“Push” คือคอนโทรลเลอร์ที่ถูกสร้างมาเพื่อใช้ทำงานร่วมกับ Ableton Live โดยการที่เราสามารถควบคุมค่าพารามิเตอร์ต่างๆ จาก Live ได้ โดยแทบไม่ต้องแตะเม้าส์ของคอม แต่ใช้การควบคุมจาก Push
นอกจากการควบคุมโปรแกรมแล้ว Push ยังถูกสร้างมาให้เป็นเครื่องเหมือนดนตรีแบบใหม่ สำหรับนักดนตรี โดย Key Pad หรือปุ่มกดเล่นเสียงบนตัว Push นั้น สามารถตั้งค่าให้เล่นเสียงได้หลายรูปแบบ เช่น เล่นเสียงโน้ตแบบคีย์บอร์ดทั่วไป, เล่นเฉพาะโน้ตในคีย์ที่ตั้งไว้, เล่น Arpeggio, เล่นคอร์ด รวมถึงทำงานเป็นตัวปล่อยเล่นคลิปในระบบ Session หรือการทำงานตามแนวตั้งของ Live
ซึ่งในรอบหลายปีที่ผ่านมา Push ถือเป็นคอนโทรลเลอร์ที่ดีที่สุดสำหรับ Ableton Live
การมาถึงของ Push3
ด้วยความที่ Push นั้น ถือเป็นอุปกรณ์ทางดนตรี ที่ประทับใจผู้ใช้อย่างมาก ทั้งการออกแบบการทำงาน หน้าตาที่สวยมาก รวมถึงสัมผัสในการใช้งานที่ให้ความรู้สึกดีมาก ความคาดหวังต่อ Push รุ่นใหม่จึงมีมากมาย การมาถึงของ Push3 จึงต้องมีอะไรมากกว่าเดิม ซึ่งสิ่งที่เพิ่มเติมมาในรุ่นใหม่ เช่น
มีระบบ MPE (MPE-enabled pads)
MPE ย่อมาจาก MIDI Polyphonic Expression คือการที่คีย์บอร์ดหรือปุ่มของคอนโทรลเลอร์ สามารถรองรับการสัมผัสได้หลายรูปแบบนอกเหนือจากการกด เช่น การสไลด์นิ้วบนปุ่มกด การโยก หมุน ปุ่มกด (คอนโทรลเลอร์ที่เด่นในระบบ MPE คือ Roli) ซึ่งตอนนี้ เราสามารถโยก คลึง สไลด์ แป้นกดบน Push3 เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่า Midi ตามที่ตั้งไว้ ให้มีผลต่อการเล่นและเสียงได้
มี Audio Interface ในตัว
Push รุ่นก่อนหน้านั้น ทำหน้าที่แค่เป็น Midi Controller ไม่ได้มี Audio Interface ในตัว การเซ็ทอัประบบในการใช้ Live และ Push จึงต้องมีทั้งคอมพิวเตอร์, Audio Interface และ Push
ใน Push3 นี้ มี Audio Interface ในตัวเอง หมายความว่าเราต่อ Push เข้าคอม แล้วเล่นเสียงจาก Live ผ่าน Push ได้เลย ซึ่งทำให้การทำงานสะดวกขึ้น
จำนวน In / Out ของ Push3 คือ
- 2 Balanced inputs
- 2 Balanced outputs
- 1 Headphone out
- 8 ADAT inputs
- 8 ADAT outputs
ใช้ Push ได้ แบบไม่ต้องต่อกับคอมพิวเตอร์ (Standalone playability)
ข้อเด่นมากสำหรับ Push3 ก็คือ สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ภายนอก ทำให้ Push3 กลายเป็นอุปกรณ์ “เล่นเสียง” ที่เราสามารถยกไปเล่นได้ เหมือนเครื่องดนตรีชิ้นหนึ่ง
แต่ระบบ Standalone playability นั้นทำได้กับ Push3 รุ่นที่มีคอมพิวเตอร์ในตัวเท่านั้น โดย Push3 นั้น ออกมาให้เลือกซื้อ 2 แบบคือ แบบที่มีคอมพิวเตอร์ในตัว เรียกว่ารุ่น “Push (standalone)” และแบบที่ไม่มีคอมพิวเตอร์ในตัว เรียกว่ารุ่น “Push” ซึ่งราคาของ “Push (standalone)” อยู่ที่ 1,999 usd ราคาของ “Push” อยู่ที่ 999 usd และเราสามารถซื้อชุดคิทคอมพิวเตอร์ (Upgrade Kit) มาใส่ให้ Push ในภายหลังได้ ราคาชุดคิทอยู่ที่ 1,049 usd
สเปคของคอมที่ใส่มาสำหรับ Push (standalone)” คือ
- Intel 11th Gen Core™ i3-1115G4 processor with 8GB of RAM
- Built-in lithium battery with up to 2.5 hours play time
- Built-in 256GB SSD hard drive
ทีนี้ผมใช้คำว่า “เล่นเสียง” กับระบบ Standalone ก็เพราะตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดว่า โปรแกรมหรือระบบที่ใช้ทำงานบน Push นั้น มีความสามารถแบบไหน สามารถอัดเสียง ตัดต่อเสียงได้ไหม ซึ่งตรงนี้คงต้องรอดูความชัดเจนอีกครั้ง หรือทาง Ableton อาจพัฒนาโปรแกรมบน Push ให้สามารถทำเพลงได้แบบตั้งแต่ต้นจนจบได้ แต่ตอนนี้ ให้มองว่า “Push (standalone)” นั้น คือ Sampler ตัวหนึ่ง น่าจะได้ภาพการทำงานที่ชัดเจน
สำหรับนักทำเพลงที่รอคอยการมาถึงของ Push รุ่นใหม่ สิ่งที่เพิ่มเติมมาใน Push3 อย่างการมี Audio Interface ในตัว ถือเป็นความสะดวกอย่างยิ่ง ส่วนระบบการทำงานอื่นๆ คงต้องลองเมื่อได้จับของจริง ว่าจะทำงานแตกต่างและดีขึ้นจาก Push รุ่นเดิมมากแค่ไหนครับ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก ableton.com