การทำงานเพลง เราทำงานร่วมกับอุปกรณ์หลากหลายอย่าง เช่น Audio Interface, ลำโพง, ไมโครโฟน ซึ่งนอกจากความเข้าใจวิธีใช้งานอุปกรณ์แต่ละชิ้นแล้ว ยังควรมีนิสัยหรือขั้นตอนการทำงานกับอุปกรณ์ที่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นและเป็นการดูแลรักษาอุปกรณ์ด้วย เราไปดูกันว่าสิ่งต่างๆ ที่ควรทำให้เป็นนิสัยเพื่อช่วยให้การทำงานราบรื่น มีอะไรบ้าง
1. อย่าเคาะไมค์ – การลองเสียงไมโครโฟนทุกครั้ง ให้ใช้การพูดออกเสียง อย่าทดสอบโดยการเอามือเคาะไมค์ เพราะนอกจากไมค์จะพังได้แล้ว ความแรงของสัญญาณที่เคาะ อาจทำให้อุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ อย่าง Audio Interface พังได้ ดังนั้นกฎเหล็กของคนทำงานกับไมโครโฟนก็คือ “ห้ามเคาะไมค์”
แต่ในการทำงาน บางครั้งเราไม่ได้ทำงานกับไมค์ที่ใช้สำหรับรับเสียงร้อง แต่อาจเป็นไมค์ที่ใช้บันทึกเครื่องดนตรี แล้วตำแหน่งการวางไมค์หรือชนิดของไมค์ ไม่สะดวกในการใช้เสียงพูดทดสอบ ก็ให้ใช้วิธี “เกาไมค์” ในการทดสอบ
การเกาไมค์ ก็คือการที่เราเอานิ้วของเรา เกาไปที่ส่วนตะแกรงรับเสียงของไมค์เบาๆ ให้มีเสียง แล้วดูว่ามีสัญญาณเข้าที่ไมค์หรือไม่ เป็นการทดสอบเรื่องสัญญาณเบื้องต้น
2. อย่าเหยียบสายสัญญาณ – สายสัญญาณที่เราใช้ทำงานไม่ว่าจะเป็นสายไมค์ สายต่อกีต้าร์ สายลำโพง ให้ถือเป็นของสำคัญที่ห้ามเอาเท้าเหยียบ เพราะการเหยียบมีโอกาสทำให้สายพังได้
ข้อร้ายแรงสุดของการเหยียบสาย คือสายขาดในแล้วพังทันทีซึ่งเป็นเรื่องอันตรายต่องานมาก หรือแม้การเหยียบจะไม่ได้ทำให้สายพังได้ทันที แต่ทำให้อายุการใช้งานน้อยลง สายบางเส้น มีชั้นชิลด์ป้องกันเสียงรบกวน พอโดนเหยีบบแล้ว ชั้นชิลด์ป้องกันอาจแตก ทำให้ความสามารถในการป้องกันสัญญาณรบกวนลดลง ซึ่งก็คือคุณภาพในการใช้งานลดลง ดังนั้นฝึกให้เป็นนิสัย อย่าเหยียบสายที่ใช้ทำงาน
3. ปิด Volume และ Gain เสมอ – การต่อสายไมค์เข้ากับอินเตอร์เฟซ ต้องปิดปุ่มหมุนค่า Gain หรือตัวตั้งค่าความแรงสัญญาณทุกครั้ง เพื่อป้องกันสัญญาณกระแทกที่เกิดจากต่อเสียบสาย ซึ่งสามารถทำให้อินเตอร์เฟซหรือช่องต่อพังได้ การเปิดปิดอินเตอร์เฟซทุกครั้ง ก็ต้องปิดวอลลุ่มที่ส่งเสียงไปยังลำโพงด้วย เพราะจะมีสัญญาณกระชากที่ทำความเสียหายให้ลำโพงได้
4. ดูให้ชัวร์เรื่องไฟจ่ายไมค์ – ไมโครโฟนแบบ Condenser ต้องใช้ไฟ Phantom 48v จ่ายจากอุปกรณ์เชื่อมต่อ ส่วนไมค์ชนิดอื่นๆ อย่าง Dynamic และ Ribbon ไม่ต้องใช้ไฟ 48v ดังนั้นเมื่อมีไมค์ใหม่มาให้ใช้ หรือทำงานกับไมค์หลายๆ ตัว ดูให้แน่ใจว่าไมค์ที่ใช้เป็นไมค์ชนิดไหน
การจ่ายไฟให้ไมค์แบบ Dynamic ไม่ใช่ข้อผิดพลาดร้ายแรง เพราะตามการออกแบบ แม้จ่ายไฟผิดไปให้ไมค์แบบ Dynamic แต่ไฟก็จะไม่ทำความเสียหายให้ไมค์ แต่ก็ควรระวังไว้ตั้งแต่ต้น เพราะถ้าบังเอิญสายไมค์ที่ใช้ต่อผิดขั้วแล้วเราไปจ่ายไฟ 48v ให้ไมค์แบบ Dynamic ตัวไมค์ก็มีโอกาสพังได้
ส่วนการจ่ายไฟให้ไมค์แบบ Ribbon นั้น เป็นความผิดร้ายแรง เพราะไมค์แบบ Ribbon พังได้จากไฟ 48v
5. เปิด Audio Interface ก่อนเข้าโปรแกรม – ต้องเปิด Audio Interface ให้เรียบร้อยก่อน และรอให้คอมเห็นตัว Audio Interface เรียบร้อยก่อน แล้วถึงค่อยเปิดใช้งานโปรแกรมทำเพลงต่างๆ
6. การเปิด Audio Interface ก่อนเพื่อให้ไดรเวอร์ของ Audio Interface เปิดการทำงานให้เรียบร้อย ซึ่งถ้าเราเข้าโปรแกรมทำเพลงก่อนเปิดอินเตอร์เฟซ อาจทำให้การทำงานของอินเตอร์เฟซผิดพลาดได้ จนถึงขั้นที่โปรแกรมมองไม่เห็นอินเตอร์เฟซ ดังนั้นเปิดอินเตอร์เฟซก่อนเสมอ ให้เป็นนิสัย
ลำดับการเปิด-ปิดอุปกรณ์ – ลำดับการเปิดปิดอุปกรณื มีผลต่อการป้องกันการกระชากของสัญญาณ ทำให้อายุการใช้งานนานขึ้นและลดโอกาสที่อุปกรณ์จะพังได้
การเปิดอุปกรณ์เราจะเริ่มจากจุดต้นสัญญาณเสียงไปหาจุดปลายสัญญาณเสียง นั่นคือเปิดคอมก่อน-แล้วเปิดอินเตอร์เฟซ-แล้วเปิดลำโพง การเปิดตามลำดับนี้ช่วยป้องกันสัญญาณกระชากที่จะมาจากอินเตอร์เฟซเข้าลำโพง
การปิด เราย้อนกลับจากปลายสัญญาณเสียงไปหาต้นสัญาณเสียง โดยปิดลำโพงก่อน-แล้วปิดอินเตอร์เฟซ-แล้วค่อยปิดคอม
นิสัยการใช้งานอุปกรณ์นี้ อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยยิบย่อย แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยถนอมอุปกรณ์ในการทำงานให้ปลอดภัย มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ซึ่งการเจอปัญหาอย่างสายไมค์ขาด ลำโพงดอกขาดหรือไมค์พัง เป็นเรื่องกระทบการทำงานที่ไม่ควรให้เกิด เพราะเป็นเรื่องป้องกันได้จากนิสัยการใช้งานอุปกรณ์ที่ทำได้ง่ายๆ
ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ