Fast way to learn

วิธีด่วนสุดๆ ในการเรียนรู้โปรแกรมทำเพลง(เกือบ)ทุกโปรแกรมในโลก

โปรแกรมทำเพลง หรือ D.A.W (Digital Audio Workstation) ในปัจจุบัน มีให้เลือกใช้งานหลายโปรแกรม ที่เป็นที่นิยมและรู้จักในบ้านเราได้แก่ Cubase, Logic ProX, Protools, Ableton live, Cakewalk etc.

จะเห็นว่ามีโปรแกรมให้เลือกหลากหลายมาก สิ่งที่เป็นคำถามยอดฮิตตลอดกาลสำหรับผู้เริ่มต้นก็คือ โปรแกรมไหนดีที่สุด – ข้อนี้ตอบได้ว่า “ทุกโปรแกรมมีความสามารถที่จำเป็นต่อการใช้งานและเพียงพอต่อการทำงานเพลง” ดังนั้นทุกโปรแกรม ทำเพลงได้แน่นอน ส่วนคำว่าดีที่สุด น่าจะตัดสินจากความสามารถอื่นๆ ที่โปรแกรมนั้นๆ ทำได้ บวกกับการได้ใช้ความสามารถนั้นๆ และความถนัดของผู้ใช้ด้วย ดังนั้นคำว่าดีที่สุด จึงต้องให้ผู้ใช้เป็นผู้ตัดสินใจเอง คำถามจึงน่าจะกลายเป็นว่า โปรแกรมไหน ใช้แล้วถนัดสุด นั่นคือโปรแกรมนั้นๆ ดีที่สุดสำหรับผู้ใช้คนนั้น

อีกคำถามหนึ่ง ที่เป็นคำถามยอดฮิตไม่แพ้คำถามแรกคือ จะเริ่มใช้โปรแกรมทำเพลงซักโปรแกรมหนึ่ง หรือการที่ใช้โปรแกรมหนึ่งเป็น แล้วอยากเปลี่ยนไปใช้อีกโปรแกรมหนึ่ง จะเริ่มต้นหัดใช้อย่างไร เนื่องจากปัจจุบัน โปรแกรมทำเพลงแต่ละตัว มีความสามารถมากมาย แค่เปิดมาเจอคำสั่งเมนูต่างๆ ก็เริ่มต้นไม่ถูกแล้ว

กลับไปที่คำตอบข้อแรก ที่บอกว่า “ทุกโปรแกรมมีความสามารถที่จำเป็นต่อการใช้งานและเพียงพอต่อการทำงานเพลง” การหัดใช้หรือเรียนรู้โปรแกรมทำเพลงใดๆ แบบเร่งด่วน ก็คือการเรียนรู้งานพื้นฐานที่โปรแกรมทำเพลงทุกโปรแกรมทำได้เหมือนกัน เริ่มต้นเรียนรู้จากจุดนี้ก่อน จะทำให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น

งานพื้นฐาน ที่โปรแกรมทำเพลงทุกโปรแกรมทำได้

โปรแกรมทำเพลงทุกโปรแกรม จัดการเรื่องใหญ่ๆ ให้เราสองเรื่องคือ การจัดการงานที่เป็น Audio และงานที่เป็น Midi ทุกวันนี้ในการทำเพลง คนทำเพลงยุ่งอยู่กับสองเรื่องนี้เป็นหลัก

Audio – คือเสียงที่เราอัดเข้าไปในโปรแกรมจริงๆ ผ่านไมโครโฟนหรือผ่านการอัดตรง เป็นไฟล์ Wave หรือ Aiff เราจัดการ Audio โดยการยืด หด ตัด ขยับ ปรับความดัง นี่คืองานพื้นฐานของ Audio ที่โปรแกรมทำเพลงทุกโปรแกรมทำได้

Midi – คือข้อมูลที่เราบันทึกแล้วส่งต่อไปยัง Virtual Instrument หรือปลั๊กอินเสียงเครื่องดนตรีต่างๆ เราจัดการ Midi ในเรื่อง การขยับโน้ต ปรับความสั้น ความยาว น้ำหนัก(Velocity) นี่คืองานพื้นฐานของ Midi ที่โปรแกรมทำเพลงทุกโปรแกรมทำได้

วิธีด่วนสุดๆ ในการเรียนรู้โปรแกรมทำเพลง(เกือบ)ทุกโปรแกรมในโลก

อย่างที่บอกว่าในการเรียนรู้โปรแกรมต่างๆ มีสิ่งที่เป็นพื้นฐานการทำงานในทุกๆ โปรแกรมเหมือนกัน การที่เราจะใช้โปรแกรมไหนๆ ทำงาน ถ้าเรารู้เพียงการทำงานพื้นฐานเหล่านี้แล้ว สามารถจบงานได้แน่นอน อยากเรียนรู้โปรแกรมทำเพลงแบบรวดเร็ว ขอให้เรียนรู้คำสั่งเหล่านี้ก่อน

จะสร้างแทรค Audio และบันทึกเสียงอย่างไร

เริ่มใช้โปรแกรมทำเพลง ควรต้องอัด Audio ได้ โปรแกรมเกือบทุกโปรแกรม เมื่อเราคลิกขวาที่เม้าส์ ตรงช่องว่างของหน้า Arrange มักจะมีตัวเลือกให้สร้าง Audio Track ได้ แต่ถ้าไม่มีตัวเลือกให้ ตัวเลือกมักจะอยู่ในเมนู Audio หรือ Insert

ส่วนการอัดซ้ำ อัดแก้ไข ทุกโปรแกรมจะอัดเจาะได้ แต่เพื่อความรวดเร็วให้สร้างแทรกใหม่แล้วอัดซ้ำตรงที่ต้องการแก้ไข จะง่ายกว่าการพยายามหาวิธีอัดทับเฉพาะจุดบนแทรกเดิม

พอตั้งแทรกได้ ส่วนใหญ่จะมีตัวเลือกให้ตั้ง Input ว่าจะรับสัญญาณเสียงจากไหน ตั้ง Out put ว่าจะให้เสียงออกไปที่ไหน

ส่วนการอัด จะอัดแทรกไหน แทรกนั้นต้องตั้ง Arm Track หรือทำให้ปุ่มอัดอยู่ในสถานะพร้อมอัด (active) อันนี้คือรูปแบบที่เป็นมาตรฐานทั่วไปในการอัด Audio

หาปุ่มหรือวิธี Solo และ Mute แต่ละแทรกให้เจอ

การ Mute และ Solo เป็นหนึ่งในตัวช่วยในการทำงาน ที่ใช้บ่อย เริ่มหัดใช้โปรแกรมใหม่ หาวิธี Mute และ Solo แทรกให้เจอ จะได้ตรวจสอบได้ว่าเสียงที่ได้ยินอยู่แต่ละเสียง คือเสียงของแทรกไหน มีเส้นทางเสียง ไปออกที่ไหน

Metronome

ตั้งความเร็ว และปิดเปิดเสียง Metronome หรือเสียงคลิกได้

==========================

การตัดต่อเสียง ขอให้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้ก่อน

จะแยกคลิปเสียงหนึ่งคลิปออกจากกันอย่างไร – ส่วนใหญ่เราตัดคลิปเสียงออกจากกันได้ด้วยเครื่องมือกรรไกรหรือมีด ดังนั้นมองหาไอคอนรูปทั้งสองก่อนเลย ถ้าต้องการตัดคลิป

ยืด หดคลิปเสียงอย่างไร – ส่วนใหญ่ไปที่ส่วนต้นหรือปลายของคลิป ก็จะมีลูกศรให้เลือกยืดหดคลิปนั้นๆ ได้

จะ Fade in, Fade out, Cross fade แต่ละคลิปอย่างไร – การ Fade เป็นเรื่องต้องทำเมื่อตัดต่อ Audio เพื่อป้องกันการเกิดเสียงรบกวน หาให้เจอว่าแต่ละโปรแกรม Fade คลิปอย่างไร

การย้ายคลิปแต่ละคลิป ไปยังตำแหน่งที่ต้องการ ทำอย่างไร – หาให้เจอว่าถ้าต้องการจะย้ายคลิป เช่น เสียงร้องจากท่อนฮุคครั้งแรก อยู่ห้องที่ 32 จะย้ายไปห้องที่ 48 ทำยังไง

การย้ายคลิปหรือก๊อปปี้ไปวางในตำแหน่งใหม่ จะต้องใช้จุดอ้างอิงเรียกว่าการ Snap

Snap คือการที่เราขยับคลิปหรือย้ายคลิปแล้ว ตัวคลิปจะเกาะที่เส้นอ้างอิง อย่างเส้นบอกห้องหรือจังหวะ เมื่อเราต้องการย้ายคลิปจากห้อง 32 ไป 48 ถ้าคลิปนั้นเริ่มไม่ตรงห้อง วิธีคือให้เราหดคลิปที่ต้องการมาเริ่มต้นที่ห้อง 32 พอดี โดยการเปิด Snap ไว้ แล้วย้ายคลิปไปห้อง 48 จากนั้นปิด snap แล้วยืดคลิปมาเริ่มต้นตรงจุดที่ต้องการ

การ Snap เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ต้องรู้ในการใช้งานทุกๆ โปรแกรม เมื่อเรารู้ว่าแต่ละโปรแกรมตั้งค่า Snap อย่างไร จะช่วยให้การย้ายตำแหน่งคลิปหรือไฟล์ต่างๆ ทำได้อย่างถูกต้องทั้ง Audio และ Midi

นี่คือการใช้งานพื้นฐานเกี่ยวกับ Audio

==========================

ส่วนการใช้งานพื้นฐานเกี่ยวกับ Midi มีดังนี้ คือ

จะสร้าง Midi แทรกและบันทึก Midi อย่างไร – ในโปรแกรมส่วนใหญ่ ขั้นตอนมักจะเหมือนกับการสร้าง Autio Track ต่างกันที่การเลือกสร้างจาก Audio เป็น Midi

จะเรียกใช้ Virtual Instrument และส่งข้อมูลจาก Midi Track ไปยัง Instrument อย่างไร – หาเมนูที่จะใส่ปลั๊กอินเครื่องดนตรีให้เจอ ถ้าใน Cubase กด F11 ส่วนโปรแกรมอื่นๆ อาจมีเมนูแยกเฉพาะแบบใน Cubase หรือมักจะอยู่ต้องช่อง Output บนช่อง Mixer

Midi Editor – การจัดการ Midi ส่วนใหญ่คลิกที่คลิป ก็จะเข้ามาหน้า Midi ที่ให้จัดการค่าโน้ตต่างๆ เช่น การเลื่อนเปลี่ยนเสีบงโน้ต การยืด หด สิ่งที่ต้องมองหาก็คือ การเขียนค่า Velocity และการเขียนโน้ตเพิ่มเติม ทำอย่างไร โปรแกรมส่วนใหญ่มักจะมีเครื่องมือเป็นไอคอนรูปดินสอ เพื่อจัดการเรื่องนี้

หาวิธีการ Quantise หรือจัดการค่าโน้ตให้ตรงจังหวะให้เจอ – การ Quantise เป็นเรื่องที่ใช้บ่อย หาวิธีใช้ให้เจอ จะได้ไม่ต้องมาไล่จัดการโน้ตทีละตัว

==========================

เมื่อรู้การทำงานพื้นฐาน วิธีอัด ขยับ ยืด หด ย้าย ทั้ง Audio และ Midi รวมทั้งการใส่ Vurtual Instument เราสามารถก่อร่างสร้างเพลงให้จบได้แล้ว แต่ก็ยังมีอีกเรื่องที่ต้องหาให้เจอ ในการใช้งานโปรแกรมต่างๆ นั่นคือ

หา Mixer ให้เจอ – จะลด จะเพิ่มเสียงแต่ละแทรกทำอย่างไร จะ Pan ซ้ายขวา ทำอย่างไร จะใส่ปลั๊กอินเพิ่มเติมทำอย่างไร – กระบวนการมิกงานแบบไม่ซับซ้อน เราใช้งานมิกเซอร์แค่เรื่องเหล่านี้

==========================

เรื่องสุดท้าย ในการเรียนรู้โปรแกรมทำเพลงแบบเร่งด่วนก็คือ จะ Export งานที่เราทำ ออกมาเป็นไฟล์ Stereo อย่างไร

แต่ละโปรแกรม อาจไม่ได้ใช้คำว่า Export สำหรับการยิงงานออกมา บางโปรแกรมใช้คำว่า Bounce Audio หรือ Render File แต่ก็มีความหมายเหมือนกัน คือการยิงงานออกมาเป็น Master

การ Export ไฟล์ในเกือบทุกโปรแกรม ต้องตั้งค่ากำหนดจุดเริ่มต้นของเพลงและจุดสิ้นสุด หรือค่า Locator บางคน Export มาแล้วไม่มีข้อมูล หรือเพลงสามนาทีแต่มีไฟล์ยาวเป็นชั่วโมง เหตุก็เพราะไม่ได้ตั้งจุดเริ่มต้นและสิ้นสุดของเพลง ดังนั้น ก่อน Export ต้องกำหนดจุดเริ่มต้นและจบของเพลงก่อน

มาตรฐานไฟล์ของงานทำเพลง ปัจจุบันยังอยู่ที่รูปแบบไฟล์แบบ .wav และ .aiff ที่ฟอร์แมต 16-Bit/44.1 kHz ไม่ใช่ MP3 แต่คำถามที่พบมากสำหรับคนหัดใช้โปรแกรมทำเพลงใหม่ๆ คือการหาที่ Export เป็น MP3 ไม่เจอ ตอบตรงนี้ได้ว่า โปรแกรมทำเพลงเกือบทุกโปรแกรม Export เป็น MP3 ไม่ได้ ถ้าจะยิงออกมาเป็น MP3 ได้ โดยส่วนใหญ่ต้องลงทะเบียนการ Encode เพิ่ม ดังนั้น การ Export เป็น MP3 ไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกหรือข้อด้อยของโปรแกรมนั้นๆ

ที่สำคัญคือ MP3 ไม่ใช่มาตรฐานคุณภาพในการทำ Master ดังนั้น การ Export งานออกมา ใช้มาตรฐานที่ .wav และ .aiff ที่ฟอร์แมต 16-Bit/44.1 kHz ไม่ใช่ MP3

นี่คือการเรียนรู้วิธีใช้งานโปรแกรมทำเพลงแบบเร่งด่วน ไม่ว่าใช้โปรแกรมไหน แล้วรู้วิธีใช้งานพื้นฐานเหล่านี้ สามารถจบงานที่ไม่ซับซ้อนได้แน่นอน แต่ที่สุดแล้ว เมื่อเลือกโปรแกรมทำเพลงหลักของตัวเองได้ ก็ควรศึกษาการใช้งานในระดับที่ลึกขึ้น เพื่อตอบสนองการทำงานที่ซับซ้อนยิ่งๆ ขึ้นไป

ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ

Scroll to Top