DAW Old

โปรแกรมทำเพลงยอดนิยม แต่ละโปรแกรมเกิดมานานขนาดไหน

หลายๆ ครั้ง ที่มีคำถามเกี่ยวกับความเก่าใหม่ของโปรแกรมทำเพลง จากคนที่เพิ่งหัดทำเพลงว่าโปรแกรมที่เข้าใจว่าโปรแกรมใหม่กว่านั้นดีกว่าโปรแกรมที่ได้ยินชื่อมานาน เช่น FL Studio นั้นดีกว่า Cubase เพราะเป็นโปรแกรมที่เกิดขึ้นมาใหม่

ซึ่งคำถามหรือแนวคิดแบบนี้ มีข้อคลาดเคลื่อนหลายอย่าง คือ

  • ความสามารถของโปรแกรมทำเพลง เราวัดว่าโปรแกรมใดดีกว่าอีกโปรแกรมหนึ่งไม่ได้ จากความใหม่เก่าของการเกิดโปรแกรมนั้น รวมถึงเราวัดไม่ได้ว่าโปรแกรมไหนดีที่สุด แต่เราวัดว่าโปรแกรมไหนดีกว่ากันได้จากการทำงานเฉพาะอย่าง เช่น ถ้าเทียบกันในด้านการอัด ตัดต่อเสียง ผมมองว่า Cubase นั้นทำงานง่ายกว่า FL Studio แต่ในการโปรแกรมทำดนตรีอย่างเสียงกลอง Electronic การทำงานบน FL Studio ก็มีเครื่องมือมาให้ปรับแต่ง ง่ายกว่าบน Cubase ดังนั้นการวัดว่าโปรแกรมไหนดีกว่ากัน จึงต้องวัดจากขั้นตอนการทำงานที่เราใช้ประจำ แล้วโปรแกรมนั้นๆ ตอบสนองการทำงานของเราได้ดีที่สุด โปรแกรมทำเพลงนั้น ก็จะเป็นโปรแกรมที่ที่ดีที่สุดสำหรับเรา
  • FL Studio และ Ableton Live เป็นโปรแกรมเกิดใหม่ หลายๆ คนยังเข้าใจแบบนี้ ว่าโปรแกรมทำเพลงทั้งสองโปรแกรมนี้ คือของใหม่ที่เพิ่งมีในไม่กี่ปี ดังนั้นต้องดีกว่าโปรแกรมที่เกิดมานานสิ ซึ่งเรื่องความดีกว่ากันของโปรแกรมทำเพลง อธิบายไว้แล้วด้านบน แต่สิ่งที่อยากอธิบายถึงความคลาดเคลื่อนหรือเข้าใจผิดคือ เรื่องอายุของโปรแกรมทำเพลงที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน แทบทุกโปรแกรม เกิดขึ้นมาและถูกพัฒนามาอย่างยาวนาน

บทความนี้ เราจะมาดูอายุของโปรแกรมทำเพลงที่เป็นที่นิยมแต่ละตัวกัน ว่าเกิดขึ้นมายาวนานขนาดไหน

** อายุและเวอร์ชันล่าสุดของโปรแกรมที่อ้างถึงในบทความนี้ อ้างอิงจากวันที่เขียนบทความ 1 พฤศจิกายน 2566

1. Pro Tools (อายุ 34 ปี)

Pro Tools เวอร์ชันแรก ถูกปล่อยออกมาในปี 1989 แล้วถูกพัฒนาเรื่อยมา จากที่นับเวอร์ชันเป็นตัวเลขต่อกันมาตั้งแต่เวอร์ชัน 1 จนถึงเวอร์ชัน 13 แล้วจึงเปลี่ยนเป็นการใช้ระบบตัวเลขปี เป็นการบอกเวอร์ชัน ซึ่งเวอร์ชันล่าสุดคือ Pro Tools 2023.6 เพราะออกมาในเดือน 6 ปี 2023

ซึ่งตลอดหลายสิบปีนี้ Pro Tools ถือเป็น Post Production Standard Program หรือโปรแกรมที่คนทำงานเสียงในระดับงานอุตสาหกรรม ต้องใช้ได้ และเป็นโปรแกรมที่ลูกค้าคุ้นเคยและไว้วางใจมากที่สุดโปรแกรมหนึ่ง

2. Logic Pro (อายุ 30 ปี)

โปรแกรม Logic Pro นั้นเริ่มต้นเปิดตัวครั้งแรกในปี 1993 ในชื่อโปรแกรมว่า Notator Logic เป็นโปรแกรมที่ใช้งานบนเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Atari และต่อมาก็ได้พัฒนาเป็น Logic Audio ที่ใช้งานได้ทั้งบน Mac และ PC โดยเริ่มนับเป็นเวอร์ชัน 1 จนถึงในปี 2002 บริษัท Apple ก็ได้ซื้อกิจการจากบริษัท Emagic ทำให้ Logic Pro กลายเป็นของ Apple และสามารถใช้ได้บน Mac เท่านั้น ส่วนเวอร์ชันยังนับต่อจากเดิมเรื่อยมาจนถึงรุ่นปัจจุบันคือ Logic Pro 10.7.9

Logic Pro นั้นถือเป็นโปรแกรมทำเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยในยุคเริ่มการทำเพลงด้วยโปรแกรมบนคอมพิวเตอร์ในบ้านเรา ในช่วงรอยต่อยุค 90-2000 คนทำเพลงระดับงานอาชีพแทบทั้งหมดนั้นใช้ Logic ในการทำเพลง

ในวันนี้ ถ้าคุณเป็นคนใช้ Mac เพื่อทำงานเพลง Logic Pro นั้น ถือเป็นโปรแกรมทำเพลงตัวเลือกแรกและดีที่สุดสำหรับ Mac เพราะด้วยราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับความสามารถที่ให้มา ทำให้เป็นโปรแกรมทำเพลงที่มีติดเครื่องไว้ได้ และในปี 2023 Logic Pro ก็ได้มีเวอร์ชันที่ใช้บน iPad ด้วย ซึ่งมีปลั๊กอินและเสียงที่ให้มาทุกอย่างเหมือนบน Mac ทำให้สามารถโยนงานมาทำสลับกันบน Mac และ iPad ได้

ผมเองเดิมทีฝึกทำเพลงและเป็นผู้ใช้ Logic มาก่อน จน Logic ใช้ได้บน Mac เท่านั้น ผมก็ไม่ได้ใช้อีกเลย จนในปี 2023 หรืออีก 20 ปีต่อมา ผมเปลี่ยนมาใช้ Mac และได้กลับมาใช้ Logic Pro อีกครั้ง ก็พบว่าข้อดีที่สุดข้อหนึ่งคือ ปลั๊กอินต่างๆ บน Logic ที่ผมเคยใช้ในเวอร์ชัน 5 นั้น ยังคงอยู่บน Logic Pro รุ่นปัจจุบัน นั่นหมายถึงงานที่ทำไว้เมื่อ 20 ปีก่อน ถ้าใช้เฉพาะปลั๊กอินของ Logic ก็ยังสามารถเปิดได้ในปัจจุบัน และความคุ้นเคยที่เคยได้ผ่านการใช้งานแม้เวลาผ่านไปนาน ก็ยังสามารถกลับมาเรียนรู้การใช้งานได้โดยง่าย

3. Cubase (อายุ 34 ปี)

อีกหนึ่งโปรแกรมทำเพลงยอดนิยมของโลกทำเพลงในปัจจุบัน ที่พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท Steinberg นอกจากเป็นผู้ผลิตโปรแกรม Cubase แล้ว ยังเป็นผู้คิดค้นเทคโนโลยีสำคัญที่มีผลต่องานทำเพลงในปัจจุบันอย่างมาก คือ ระบบปลั๊กอินแบบ VST และระบบไดรเวอร์ ASIO ของ Audio Interface

บริษัท Steinberg ผู้ผลิตโปรแกรม Cubase นั้น อยู่ภายในเครือหรือเป็นบริษัทลูกของ Yamaha จึงถือได้ว่า Cubase นั้น เป็นยักษ์ใหญ่ในโลกดนตรี ที่มีกำลังสนับสนุนในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ช่วงอายุของ Cubase นั้น มีจุดเปลี่ยนสำคัญคือในปี 2002 มีการปรับโฉมโปรแกรมใหม่ทั้งหมดกลายเป็น Cubase SX 1.0 ที่ปรับให้การใช้งานนั้นง่ายขึ้นและมีความสามารถต่างๆ มากขึ้น จน Cubase กลายเป็นโปรแกรมทำเพลงแถวหน้าของวงการมาตลอดกว่า 20 ปี และการนับเวอร์ชันก็นับต่อจาก Cubase SX 1.0 จนถึงรุ่นปัจจุบันคือ Cubase 12.5 

และในปี 2002 นี้ ก็ได้เกิดโปรแกรม Nuendo ขึ้นด้วย โดยเป็นโปรแกรม Cubase ที่เพิ่มความสามารถทางด้านงาน Post Production เข้าไป เช่น การมิกซ์ระบบเสียงรอบทิศทาง, การ Encode เข้ารหัสเสียงรูปแบบต่างๆ ที่ทำได้มากกว่า Cubase โดย Nuendo ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นโปรแกรมแถวหน้าในงาน Post Production

4. Ableton Live (อายุ 22 ปี)

Ableton Live เปิดตัวในปี 2001 โดยเน้นจุดเด่นคือการมีระบบ Session ที่เล่นเสียงต่างๆ เป็นคลิป แยกอิสระจากกัน เพื่อใช้ในการแสดงสด

Ableton Live ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากกลุ่มนักทำเพลงสาย DJ, Electronic รวมถึงนักทำเพลงแนวทดลอง และตัวโปรแกรมก็พัฒนาความสามารถเรื่อยมา มีการเพิ่มอุปกรณ์ใหม่ๆ บน Live ให้ทำเสียงต่างๆ ได้หลากหลายมากขึ้น พัฒนาไปจนถึงการรวมโปรแกรม Max ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เอาไว้ใช้สร้างปลั๊กอินและโปรแกรมทางเสียง มาไว้บนตัว ทำให้ Live มีความยืดหยุ่นอย่างมาก ในการเล่นแร่แปรธาตุแปลงเสียงและเขียนโปรแกรมที่ทำงานเฉพาะอย่าง ตามความต้องการของผู้ใช้งาน

Ableton Live นับเวอร์ชันเรียงจากรุ่นแรกต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันคือ Ableton Live 11

5. FL Studio (อายุ 25 ปี)

FL Studio เปิดตัวครั้งแรกในปี 1998 ในชื่อ FruityLoops โดยแรกเริ่มนั้นเป็นเพียงโปรแกรมที่ใช้ทำจังหวะกลอง ที่มีเสียงกลองมาให้จำนวนจำกัด และใช้วิธีโปรแกรมเสียงในรูปแบบปุ่ม เหมือน Drum Machine แบบ Roland TR ซึ่งในปีแรกๆ ที่ออกมา ยังถือว่าเป็นโปรแกรมเสริมสำหรับงานทำเพลง เพราะยังมีความสามารถสู้โปรแกรมทำเพลงอื่นๆ ในยุคเดียวกันไม่ได้

FruityLoops Version 1.0 (ภาพจากเว็บ  FL Studio)
FruityLoops Version 1.0 (ภาพจากเว็บ FL Studio)

FruityLoops ถูกพัฒนาเรื่อยมา มีความสามารถมากขึ้นเรื่อยๆ และเปลี่ยนชื่อเป็น FL Studio ในปี 2003 และกลายเป็นโปรแกรมยอดนิยมของนักทำเพลง Home Studio สายสร้าง Beat, Hip Hop, Electronic ด้วยหน้าตาโปรแกรมที่ทำให้การปรับแต่งเสียงต่างๆ ทำได้ง่าย ผ่านปุ่มปรับต่างๆ บนโปรแกรม และจุดเด่นมากคือการมีจุดขายว่า สามารถอัปเดตได้ฟรีตลอดชีพ คือซื้อครั้งเดียว พอโปรแกรมออกเวอร์ชันใหม่ ก็อัปเดตได้ตลอด

FL Studio นับเวอร์ชันตั้งแต่เป็น FruityLoops มาจนถึงปัจจุบัน เวอร์ชันล่าสุดคือ FL Studio 21.2

6. Presonus Studio One (อายุ 14 ปี)

Studio One เปิดตัวในปี 2009 ผลิตโดยบริษัท Presonus ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตฮาร์ดแวร์อุปกรณ์บันทึกเสียง เช่น Mixer, Audio Interface ซึ่งถ้านับตามอายุของโปรแกรมทำเพลงที่เป็นที่นิยม ถือว่า Studio One มีอายุน้อยสุด

Studio One นั้นเกิดมาในวันที่โลกของการทำเพลง ทำงานบนระบบดิจิตัลและบนโปรแกรมทำเพลงแบบ 100% มีผู้นำทางด้านโปรแกรมทำเพลงที่ครองตลาดอย่างเหนียวแน่นคือ Logic Pro และ Cubase การมีโปรแกรมทำเพลงเกิดใหม่ จึงยากที่จะมีส่วนแบ่งผู้ใช้ได้ ถ้าโปรแกรมนั้นไม่เจ๋งจริง

ด้วยความมาทีหลัง Studio One นั้นทำการบ้านมาอย่างดี จึงรวมข้อดีและความสามารถต่างๆ ในแบบที่โปรแกรมที่มีอยู่เดิมทำได้ มาไว้ในตัว บวกกับการใช้งานที่ง่าย เรียนรู้ง่าย และมีทุกอย่างทั้งความสามารถและปลั๊กอินมาให้อย่างครบถ้วน ตั้งแต่เวอร์ชัน 1 จึงทำให้สามารถขยับเข้ามาเป็นโปรแกรมยอดนิยมได้อย่างรวดเร็ว

อีกกลยุทธหนึ่งที่ได้ผลมากๆ คือการแถม Studio One รุ่น Artist ที่มีความสามารถสูงมาก แถมมากับการซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ของ Presonus ก็ทำให้ผู้ใช้มีโปรแกรมทำเพลงที่ใช้งานจริงแบบจบงานได้ เอาไว้ใช้งาน ซึ่งเทียบกับโปรแกรมแถมอื่นๆ เช่น Cubase LE นั้น เหมาะเป็นโปรแกรมเริ่มต้นเรียนรู้ มากกว่าการใช้จบงานได้จริง เพราะความสามารถของโปรแกรมที่ให้มาอย่างจำกัดมากๆ กลยุทธข้อนี้ เลยทำให้ Studio One กลายเป็นโปรแกรมประจำเครื่อง ของคนใช้งานฮาร์ดแวร์ของ Presonus ได้โดยง่าย

Studio One พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง เวอร์ชันปัจจุบันคือ Studio One 6

ผมยกตัวอย่างอายุของโปรแกรมทำเพลงมา 6 โปรแกรม โดยสิ่งที่อยากให้เห็นคือ โปรแกรมทำเพลงที่เป็นที่นิยมแต่ละโปรแกรมนั้น มีการพัฒนาต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ทำให้มีความสามารถของโปรแกรมในการใช้งานด้านต่างๆ ในการทำเพลงได้อย่างดี

ถ้าคุณเป็นคนเริ่มทำเพลงแล้วกลัวว่าความสามารถของโปรแกรมที่จะเลือกใช้ จะดีไม่พอ ก็ขอให้อย่ากังวล สิ่งที่ควรต้องกลัวมากกว่าคือ คุณรู้วิธีใช้และสามารถดึงศักยภาพของโปรแกรมออกมาได้อย่างเต็มที่และคุ้มค่าหรือยัง

ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ

Scroll to Top