Midi Controller คืออะไร
แบบวิชาการ Midi Controller คืออุปกรณ์ที่มีปุ่มหมุน คีย์บอร์ด ปุ่มกด สไลด์เฟดเดอร์ หรือปุ่มควบคุมลักษณะอื่นๆ ที่ตั้งค่า Midi Control ได้ เพื่อส่งสัญญาณ Midi ไปควบคุมอุปกรณ์หรือโปรแกรมต่างๆ ที่รับสัญญาณ Midi ได้
แบบชาวบ้าน เข้าใจง่ายๆ Midi Controller คืออุปกรณ์ที่มีปุ่มกด บิดๆ หมุนๆ ที่ตั้งค่าให้ไปควบคุมโปรแกรมหรือปลั๊กอินต่างๆ ได้
ประโยชน์ของ Midi Controller
ประโยชน์ของ Midi Controller ทำให้เราเข้าถึงคำสั่งหรือตั้งค่าของสิ่งที่ Midi Controller นั้นควบคุมได้โดยตรง อธิบายแบบให้เห็นภาพ ลองนึกตามนี้ ในการทำงานที่ไม่มี Midi Controller เราต้องการตั้งค่า Volume ของเสียงเปียโนที่เป็นปลั๊กอินให้ดังขึ้น วิธีการคือเราต้องใช้เม้าส์คลิกที่โปรแกรมทำเพลง ต้องคลิกเปิดปลั๊กอิน ให้หน้าจอแสดงผลเป็นปลั๊กอินเปียโนที่ใช้อยู่ ต้องคลิกเข้าไปหน้าที่ปุ่มคำสั่ง Volume ของปลั๊กอิน แล้วคลิกเลือกความดังที่ต้องการ นี่คือขั้นตอนในการควบคุมงานด้วยเม้าส์ ถ้าเราต้องการปรับการ Pan ซ้าย-ขวา เราต้องคลิกเลือกอีกที ไม่สามารถทำพร้อมกันสองอย่างในเวลาเดียวกันได้
แต่เมื่อเราใช้ Midi Controller เมื่อเราบิดปุ่มหนุน(Knob) หรือเลื่อน Fader บน Controller ค่า Volume ของเปียโน ก็จะเปลี่ยนทันที โดยที่เราไม่ต้องสนใจว่าตอนนี้ หน้าคอมจะเปิดโปรแกรมที่หน้าไหนอยู่ และเรายังหมุนตั้งค่า Pan ได้พร้อมกันด้วย
สรุปคือ ประโยชน์ของ Midi Controller ทำให้เราเข้าควบคุมโปรแกรมและปลั๊กอินต่างๆ ได้โดยตรง ควบคุมได้หลายค่าพร้อมๆ กัน ทำให้การทำงานสะดวกขึ้น
การทำงานของ Midi Controller
เราใช้ Midi Controller เพื่อควบคุมค่าต่างๆ ของโปรแกรมและปลั๊กอิน โดยลักษณะค่าที่เราตั้งได้มีดังนี้
- เปิด/ปิด – ใช้ตั้งเปิดปิดการทำงานค่าต่างๆ ลักษณะการทำงานเหมือนสวิทซ์ไฟ กดครั้งแรกเปิด กดอีกทีปิด ตัวอย่างเช่น ตั้งปุ่มไว้ เปิด/ปิด EQ
- กดติด ปล่อยดับ – เมื่อเรากดปุ่มค้างไว้ ค่าที่ตั้งไว้จะทำงาน เมื่อเราปล่อยปุ่ม ค่าที่ตั้งไว้จะหยุดทำงาน นึกภาพ Pedal ของเปียโน ก็ทำงานในลักษณะนี้คือเมื่อเราเหยียบ Pedal เสียงจะค้างยาว เมื่อเราปล่อย Pedal เสียงจะหยุด
- เพิ่ม/ลด ค่า – เราตั้งให้ เพิ่ม/ลด ค่าต่างๆ ที่ตั้งไว้ โดยค่านั้นมีลักษณะเป็นค่าตัวเลขต่อเนื่อง จำนวนน้อยไปมาก เช่น ตั้งให้ควบคุม Volume เบา-ดัง , ตั้งให้ควบคุมการ Pan ซ้ายขวา
- Trigger – ตั้งให้ปล่อยข้อมูลที่ต้องการ เช่น ตั้งเป็น Trigger กดแล้วจะเล่น ไฟล์เสียงตบมือ เป็นต้น
- เป็นคีย์ลัด – ตั้งให้เป็นคีย์ลัด เหมือนการใช้คีย์ลัดบนแป้นพิมพ์(Keyboard) เช่น กดแล้วเปลี่ยนหน้าจอจากหน้า Arrange ไปที่ Mixer, กดแล้วจะเข้าไปหน้า Import Audio File, ถึงการควบคุมพื้นฐานอย่าง เล่น อัด หยุด (Transport)
- Scroll – ตั้งค่าให้เป็นตัวเลื่อนข้อมูล
รูปแบบปุ่มของ Midi Controller
สินค้าที่เป็น Midi Controller อาจมีหน้าตาแตกต่างกันไป แต่รูปแบบของปุ่มควบคุมต่างๆ มีรูปแบบที่เหมือนกันเกือบทั้งหมด แยกได้ดังนี้
- Fader/Knob – สองอย่างนี้ทำหน้าที่เหมือนกันคือใช้ เพิ่ม/ลด ค่าข้อมูล, Expression Pedal ที่ใช้กับคีย์บอร์ด ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้ คือใช้ดัน บิด หมุน เหยียบ เพื่อ ลด/เพิ่ม ค่าของข้อมูล
- ปุ่ม – ใช้ตั้งค่าได้หลายแบบ คือ เปิด/ปิด, กดติด/ปล่อยดับ, Trigger
- Scroll Knob – คือปุ่มหมุนแบบอิสระ แตกต่างกับ Fader และ Knob ที่มีจุดหมุนจำกัดคือ เราใช้เพื่อเลือกข้อมูลที่มีค่ากว้างมากๆ , Jog Wheel ของ DJ ก็จัดอยู่ในกลุ่มนี้
- Keyboard,Trigger Pad , Drum Pad, – ทำหน้าที่เหมือนปุ่ม แต่ต่างกันที่เพิ่มการรับค่าจากน้ำหนักกดด้วย
Midi Controller ในปัจจุบัน
Midi Controller ในปัจจุบัน ถูกพัฒนาเป็นสินค้าสำหรับคนหลายๆ กลุ่ม มีทั้งรูปแบบที่เป็น Hardware และเป็น Application ที่ใช้กับโทรศัพท์บนมือถือและแท็บเล็ตขอแยกตามกลุ่มใช้งานดังนี้
- สำหรับคนทำเพลง – ลักษณะเป็น Keyboard Controller มีลิ่มเปียโนสำหรับเล่นดนตรี มีปุ่มต่างๆ ให้ใช้งาน แบบนี้เป็นแบบพื้นฐานสุด สำหรับคนทำงานเพลง เล่นสด
- สำหรับ Beat Maker – ลักษณะเป็น Trigger Pad ให้เล่นเสียงต่างๆ ผ่าน Pad มีปุ่มบิด ปุ่มหมุน ให้ใช้พอประมาณ Controller กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่ออกมาเพื่อรองรับโปรแกรมอย่าง Ableton Live และ Maschine
- สำหรับ DJ – มี Jog Wheel และ Cross fader เน้นความเข้ากันได้กับโปรแกรม DJ อย่างง Tracktor และ Serato
- สำหรับคนเล่นกีตาร์ – ลักษณะเป็นบอร์ดเหมือน Multi Effect มีสวิตซ์ให้เลือกค่าต่างๆ พวก Midi Footswitch ทั้งหลายที่ใช้ร่วมกับ Rack Effect จัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย
- Application – ใช้บนมือถือและแท็บเล็ต โปรแกรมทำเพลงหลักๆ อย่าง Logic, Cubase ล้วนมี Application ของตัวเอง เพื่อใช้ควบคุมตัวโปรแกรมของตัวเอง ข้อดีที่ต่างจากแบบฮาร์ดแวร์มากคือ เราสามารถควบคุมค่าต่างๆ ได้ในระยะไกลขึ้น ทำให้การทำงานคนเดียวสะดวกขึ้น เช่น เราอัดกีต้าร์ในห้องหรือบู๊ทกันเสียงที่อยู่ห่างจากหน้าคอม เราสามารถควบคุมคอมโดยใช้มือถือหรือแท็บเล็ตได้
Application ที่ผมใช้บนระบบ Android คือ Touchdaw ใช้งานได้ดีกับเกือบทุกโปรแกรม ลองหามาใช้กันดูครับ
ข้อดีที่ควรมี Midi Controller ไว้ใช้งาน
อธิบายยาว ถึง Midi Coontroller เรามาสรุปข้อดีของการที่ควรมี Midi Controller ไว้ใช้งานกัน
- เพิ่มความสะดวก – เพราะเข้าถึงค่าต่างๆ ได้ทันที และปรับค่าต่างๆ ได้หลายๆ ค่าพร้อมกัน ตามที่บอกไว้ข้างต้น ถ้าจะระบบทำงานดีๆ ตั้งค่า Midi Controller ให้ควบคุมรูปแบบงานที่ใช้บ่อยๆ จะลดเวลาที่ต้องคลิกเม้าส์ไปได้อย่างมหาศาล
- ใช้เล่นสด – การแสดงสดด้วย Software จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี Midi Controller เพราะ Midi Controller ทำให้เราควบคุมค่าต่างๆ ได้หลายๆ ค่าพร้อมกัน และรวดเร็วกว่าการคลิกเม้าส์ ลองนึกภาพดีเจ ที่ต้องใช้เม้าส์เลือกเพลง แล้วต้องใช้เม้าส์มา Cross-Fade เพลง แล้วใช้เม้าส์เร่งเสียงทุ้ม สภาพแบบนี้ไม่ใช่การแสดงสดแล้ว
- ทำงานระยะไกลจากคอมพิวเตอร์และ Audio Interface ได้ – Midi Controller ที่เป็น Application ใช้ควบคุมการทำงานได้ ตามระยะของสัญญาณ Wi-Fi ทำให้การทำงานคนเดียวสะดวกขึ้นมากๆ
- ได้อารมณ์ Analog – การได้บิดๆ หมุนๆ ปุ่มจริงๆ ได้อารมณ์กว่าการคลิกเม้าส์มากมายหลายเท่านัก
สุดท้าย ขอให้สนุกกับการใช้ Midi Controller ในการทำงานครับ