การทำงานเพลงในปัจจุบันเกือบทั้งกระบวนการ เราทำบนคอมพิวเตอร์ และสิ่งที่จะช่วยให้เราโปรแกรมดนตรีของเราเข้าไปในคอมพิวเตอร์ก็คือ คีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์ (Keyboard Controller) โปรแกรมคลังเสียงทั้งหลาย(Vurtual Instrument) หรือจะเรียกได้ว่าทุกตัวที่มีขายบนโลกนี้ ถูกสร้างมาเพื่อให้ใช้คีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์ในการโปรแกรม เมื่อคีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์ สำคัญกับงานทำเพลงขนาดนี้ บทความนี้เราจะพูดถึงการเลือก คีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์ เพื่อใช้ในการทำงานเพลงกัน (และมีแถมสำหรับการแสดงสดด้วย …)
ทำความรู้จักคีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์กันหน่อย
คีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์ ประกอบไปด้วยส่วนหลักๆ ในการใช้งานสองส่วน คือส่วนที่เป็นคีย์บอร์ด และส่วนควบคุมโปรแกรมหรือคอนโทรลเลอร์ อาจมีบางรุ่น บางยี่ห้อ ที่มีแต่คีย์บอร์ดอย่างเดียวไม่มีส่วนของคอนโทรลเลอร์ แต่เห็นได้น้อยมากๆ ในสินค้าที่ขายกันอยู่ในตอนนี้
ส่วนของคีย์บอร์ด เราใช้เพื่อส่งสัญญาณข้อมูลการเล่นของเราไปยังคอมพิวเตอร์
ส่วนของคอนโทรลเลอร์ คือปุ่มหมุ่น ปุ่มกด ต่างๆ ที่เราตั้งค่าเพื่อควบคุมการทำงานของโปรแกรมดนตรีและปลั๊กอินต่างๆ ให้เปลี่ยนแปลงตามการบิด การหมุนของเรา อธิบายคร่าวๆ ประมาณนี้ก่อน
คีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์ ที่มีขายในปัจจุบันมีสิ่งที่เหมือนกันแทบทุกตัว คือ
- เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ผ่านช่อง USB มีช่อง
- Midi Out มาให้อีก 1 ช่องเป็นอย่างน้อย สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ Midi อื่นๆ
- มีช่องสำหรับต่อ Pedal สำหรับทำให้เสียงค้างยาว(Hold)
ทั้งสามอย่างนี้ ค่อนข้างเป็นมาตรฐาน ยกเว้นคีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์รุ่นที่มีขนาดเล็กมากๆ สำหรับการพกพา อาจจะไม่มีช่อง Midi Out และ ช่องต่อที่เหยียบ Hold
นี่คือภาพรวมของคีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์ รู้จักภาพรวมแล้ว มาเข้าเรื่องกัน
เลือกคีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์อย่างไร ให้ถูกใจ ถูกงาน และถูกเงิน
ก่อนจะไปกันต่อ ขอตั้งสมมติฐานก่อนว่าคนที่จะเลือกซื้อคีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์ คือคนที่เล่นคีย์บอร์ดเป็น เพื่อใช้คีย์บอร์ดทำงานดนตรี … แน่ล่ะ เล่นคีย์บอร์ดไม่เป็น จะซื้อไปทำไม … เมื่อคุณพร้อมจะมีคีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์แล้ว ขอให้เลือกโดยมองสิ่งเหล่านี้ประกอบ
1.เลือกจำนวนคีย์ก่อนเลย – คีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์จะมีจำนวนคีย์ที่ทำขายกันคือ 25, 49, 61 และมากกว่า 61 คีย์ขึ้นไป ถ้าคุณเป็นมือคีย์บอร์ด นักเปียโนสุดพริ้ว เลือก 61 คีย์หรือมากกว่าไปเลย การเล่นที่พริ้วไหวของคุณน่าจะได้ใช้พื้นที่บนคีย์บอร์ดอย่างทั่วถึงแน่นอน
แต่ก็มีคนทำเพลงหลายคนที่ไม่ได้เล่นคีย์บอร์ดเป็นเครื่องดนตรีหลัก อาจเล่นได้นิดหน่อย ก๋องแก๋ง ป๋องแป๋ง เล่นได้ทีละนิ้วสองนิ้ว ทีละโน๊ตสองโน๊ต ปกติเล่นกีต้าร์ ตีกลอง เล่นเบส แต่มีคีย์บอร์ดเอาไว้กดทำเพลงเป็นเดโม เก็บไอเดีย …
คีย์บอร์ดแบบ 25 และ 49 คีย์ เพียงพอสำหรับการจับคอร์ด เล่นโน๊ตทีละไม่กี่โน๊ต หรือเล่นเฉพาะเสียงเบสทีละโน๊ต ดูที่ศักยภาพในการเล่นของตัวเองเลย การซื้อคีย์บอร์ดที่มีคีย์มากที่สุด สะดวกต่อการทำงานแน่นอน แต่หากคุณไม่ได้จะเล่นพริ้วแบบสุดๆ คีย์ที่ลดลง ก็ประหยัดเงินไปได้พอสมควร
ขอพูดถึงขนาด 49 คีย์หน่อย เพราะตอนนี้ผมก็ใช้ขนาดนี้อยู่ ตอนที่จะเลือกว่าจะใช้ 49 หรือ 61 คีย์นี่ลังเลมากนะ เพราะกลัวใช้แล้วทำงานไม่พอ แต่ก็ตัดสินใจเลือกขนาด 49 คีย์ เพราะเจอตัวที่ตรงการใช้งาน แล้วพอใช้งานจริงๆ ก็ไม่เคยใช้ไม่พอ เพราะเวลาเราทำเพลง เราทำเพลงเป็นช่วงๆ ทำเป็นท่อนๆ ไม่ได้เล่นยาวๆ ต่อเนื่องไป ตรงไหนที่ต้องเล่นคีย์ที่สูงหรือต่ำกว่าคีย์ที่มี ก็ใช้ปุ่ม Octave เลือกให้คีย์ขยับไปสูงหรือต่ำได้
ดังนั้น ถ้าจะเลือกตีย์บอร์ดที่คีย์น้อย ขอให้ดูวิธีเลื่อน Octave ของคีย์ด้วย เลือกแบบที่มีปุ่มกดได้ทันทีดีที่สุด แบบมีปุ่มกดเห็นชัดๆ กดง่ายๆ กดปุ๊บเลื่อนปั๊บ …. บางรุ่นบางแบบต้องกดสองมือ ต้องกดปุ่มหนึ่งร่วมกับอีกปุ่ม หรือกดปุ่มสั่งงานร่วมกับกดคีย์ แบบนี้ไม่สะดวกมากๆ ยิ่งถ้าต้องเอาไปเล่นสด การกดเลื่อน Octave ด้วยมือสองมือขณะที่เล่นอยู่ เป็นเรื่องลำบากมากๆ
แต่หลักการง่ายสุดของการเลือกจำนวนคีย์ก็คือ “เลือกที่คีย์มากที่สุดเท่าที่ซื้อไหว”
2. ใส่ใจความรู้สึกในการเล่นหรือ Touching ให้มากและควรมี Velocity Curve ให้เลือก ลองให้ดีว่าคีย์กดแล้วตอบสนองยังไง บางคนชอบให้คีย์กดแล้วเด้งๆ บางคนชอบหนืดๆ บางคนชอบคีย์มีน้ำหนัก กดแล้วต้องใช้แรงหน่อย บางคนชอบให้คีย์กดง่ายๆ เรื่องสัมผัสนี่ต้องลองเท่านั้น และควรให้ความสัมคัญมากๆ ลองให้นานๆ กับเสียงเครื่องดนตรีหลายๆ แบบ อย่าลองแค่เสียงเปียโน
ควรเลือกรุ่นที่ปรับ Velocity Curve หรือการตอบสนองน้ำหนักการกดได้ บางคนตอนเล่นกดคีย์แรงตลอด จะเล่นเบาๆ ก็ยังมือหนัก หรือบางคนกดแรงสุดๆ ก็ยังใช้แรงอันน้อยนิด นั่นคือแรงที่ใช้ในการกดคีย์หนักสุดและเบาสุดของแต่ละคนใช้แรงไม่เท่ากัน Velocity Curve คือตัวช่วยปรับการตอบสนองน้ำหนักในการกดให้สัมพันธ์กับค่า Velocity ทำให้น้ำหนักการเล่นของคุณฟังดูเป็นธรรมชาติ
3. ส่วนของคอนโทรลเลอร์หรือส่วนควบคุมโปรแกรม การตั้งค่าปุ่มต่างๆ ทำได้ยากง่ายแค่ไหน
เมื่อเราดูคลิปต่างๆ บนยูทูบ จะเห็นว่าการใช้คอนโทรลเลอร์ ช่างทำให้การทำงานหรือการแสดงสด สะดวกสบายมากๆ บิดๆ หมุนๆ ที่คอนโทรลเลอร์ ตัวโปรแกรมก็ทำงานตาม นี่คือสิ่งที่ทุกคนคาดหวังจากการใช้งานคอนโทรลเลอร์ แต่ในการใช้งานจริง คอนโทรลเลอร์ไม่ใช่สิ่งที่เสียบปุ๊บ กดๆ หมุนๆ แล้วจะควบคุมโปรแกรมที่เราต้องการได้ดังใจทันที แต่ต้องผ่านการ Setting ก่อนแทบจะทุกรุ่น ย้ำอีกที คอนโทรลเลอร์แทบทุกรุ่น จะใช้งานกับโปรแกรมต่างๆ ได้ ต้องผ่านการตั้งค่าปุ่มบนคีย์บอร์ด ให้ตรงกับค่า Midi CC ที่โปรแกรมหรือปลั๊กอินกำหนดไว้
มีคอนโทรลเลอร์บางรุ่น ที่มี Template หรือ Preset สำหรับคำสั่งพื้นฐานบนโปรแกรมทำเพลงตัวหลักๆ แต่การใช้คอนโทรลเลอร์ให้มีประสิทธิภาพจริงๆ ต้องผ่านการคิดก่อน ออกแบบระบบการใช้งานของตัวเองก่อน ว่าจะให้ปุ่มกด บิด หมุน แต่ละปุ่ม ทำงานอะไร เพื่อให้เราทำงานสะดวกที่สุด
ดังนั้นการเลือกคอนโทรลเลอร์ ของที่มีอยู่ในตลาดส่วนใหญ่ ให้ปุ่มต่างๆ มาอย่างเพียงพออยู่แล้ว สิ่งที่เราควรดูคือการตั้งค่าปุ่มต่างๆ ทำได้ยากง่ายแค่ไหน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาก่อนซื้อ
นอกจากการเลือกหลักๆ 3 ข้อแล้ว ยังมีคอนโทรลเลอร์หลายๆ รุ่น ที่ออกแบบมาสำหรับโปรแกรมหรือปลั๊กอินของตัวเอง คอนโทรลเลอร์แบบนี้จะยืดหยุ่นและสะดวกมากๆ ในการทำงาน เพราะปุ่มบนตัวคอนโทรลเลอร์ ถูกตั้งค่ามาให้ทำงานร่วมกับโปรแกรมของตัวเองได้ดีสุดๆ ลองดู Komplet Kontrol ที่สร้างมาให้คู่กับ Komplet 10 เป็นตัวอย่าง ทุกปุ่มถูกคิดมาแล้วเพื่อให้ทำงานกับตัวโปรแกรมในกลุ่ม Komplete อย่างง่ายที่สุด ไม่ต้องมาตั้งค่าเอง แต่ก็ยังสามารถตั้งค่าปุ่มต่างๆ ให้ใช้กับโปรแกรมหรือปลั๊กอินจากผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้ด้วย ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจอย่างยิ่ง สำหรับนักเล่นคอนโทรลเลอร์จริงจัง
สิ่งที่ควรจะดูเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
- ช่องต่อ Expression – ในการทำเพลงแบบปกติ ไม่ค่อยได้ใช้ Expresssion Pedal เพราะเราสามารถปรับเสียงดังเบาของสิ่งที่เล่นได้โดยการปรับที่ตัวโปรแกรมทำเพลง แต่ก็มีคลังเสียงบางตัว เช่นพวกเครื่องเป่า สามารถใช้ Expression Pedal ควบคุมความเป็นธรรมชาติของการเป่า เสียงลมหายใจได้ ดังนั้นหากเลือกคีย์บอร์ดที่ต่อช่อง Expression ได้จะดีมาก
- มือกีตาร์ ที่ชอบอัดกีตาร์แล้วใช้ Amp Simulator หรือปลั๊กอินจำลองเสียงแอมป์ ก็ควรใช้คีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์แบบที่มีช่องต่อ Expression เพราะสามารถตั้งให้ Expression Pedal ตั้งค่าจำลองการเหยีบเป็น Wah ได้ เวลาอัดกีตาร์ที่ใช้ Wah จะเหมือนจริงมากขึ้น อัด Wah ก็ต้องเหยียบไปด้วยสิ … ถึงจะใช่
- ถ้าจะนำไปเล่นสด เลือกคอนโทรลเลอร์ที่มี Fader ด้วย จะดีมาก ลองนึกว่าเราจัด Layer ของเสียงไว้สองเสียง คือ เปียโนและสตริง เราสามารถใช้ Fader ดันเพื่อเลือกเสียงสองเสียงได้ง่ายกว่าการใช้ปุ่มหมุน ทำให้การเลือก layer เสียง ทำได้สะดวกตอนเล่นสด
- คีร์บอร์ดคอนโทรลเลอร์หลายๆ รุ่น บอกว่าสามารถต่อ iPad หรือ Sound Module ผ่านช่อง USB ได้ ตรงนี้ต้องหาข้อมูลดีๆ ส่วนใหญ่จะต่อไม่ได้ตรงๆ ต้องหาอุปกรณ์เสริม เช่นการต่อเข้า iPad ต้องใช้อุปกรณ์เสริมคือช่องต่อ USB ซึ่งต้องหาข้อมูลว่าคีย์บอร์ดคอนโทรลเลอร์ของเรากับตัวอุปกรณ์ช่องต่อ USB นั้นใช้ด้วยกันได้ไหม ต้องหา Adaptor มาจ่ายไฟให้ตัวคีย์บอร์ดไหม ย้ำว่าตรงนี้หาข้อมูลดีๆ