บทความตอนนี้ จะยกตัวอย่างขั้นตอนวิธีทำเพลงที่ผมใช้ มาอธิบายให้เห็นภาพ เห็นขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นจากความว่างเปล่า จนสำเร็จเป็นเพลงหนึ่งเพลง ว่ามีวิธีการและแนวคิดอย่างไรบ้าง โดยขอยกตัวอย่างจากเพลง “รอรัก” ซิงเกิ้ลแรกของ Tea or Me (ที ออ มี) วงที่ผมทำร่วมกับเพื่อนอีกสองคนครับ
ทำความรู้จัก Tea or Me ก่อน
ที ออ มี เป็นวงที่ผมร่วมกับเพื่อนอีกสองคนตั้งขึ้น เพื่อทำงานเพลง เสนอผลงาน ทำออกสู่ตลาดในแบบเพลงฟัง ถ้าเป็นแต่ก่อนก็เรียกว่าทำวงเพื่อออกเทป พื้นเพก่อนทำ ที ออ มี ผมเป็นคนทำเพลงอยู่แล้ว เคยมีผลงานที่เป็นเพลงตลาดมาบ้าง แต่ได้พักจากการทำเพลงไปประมาณ 4 ปี ก่อนกลับมาทำ ที ออ มี จึงถือเป็นการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด
เมื่อรวมกันทำ ที ออ มี ผมรับหน้าที่แต่งเพลงและทำดนตรีทั้งหมด โดยมีเพื่อนสองคนเป็นนักร้องนำ
เพื่อนสองคนไม่ใช่นักดนตรีอาชีพ ไม่ใช่นักร้องอาชีพ และไม่เคยผ่านการมีผลงานเพลงใดๆ รวมทั้งไม่เคยมีประสบการณ์การบันทึกเสียงใดๆ จึงถือว่า เราเริ่มจากความว่างเปล่า ตอนเริ่มทำวงกัน ยังไม่มีเพลงใดๆ ที่พร้อมจะเอามาทำจริงจังเลย
แต่งเพลงใหม่ นี่คือโจทย์แรกที่ต้องทำ ผมเองตั้งภาพของ ที ออ มี ไว้แต่ต้น ว่าจะเป็นวงที่ทำเพลงเพื่อเน้น “ฟังสบาย” เราเริ่มทำเพลงกันในอายุหลักเลขสาม จุดขายเรื่องหน้าตา เรื่องสถานะทางสังคม ไม่มีเลย ดังนั้น ตั้งใจทำเพลงให้ดี คือเป้าหมายเดียวที่เรายึดไว้
เริ่มทำเพลง – ขั้นตอนทำเพลงที่ผมใช้ คือ
1. ทำดนตรีขึ้นมาก่อน – เหตุผลคือ การทำดนตรีขึ้นมาก่อน ทำให้เรากำหนดแนวทางเพลงได้ทันที ต้องการเพลงร็อค ก็ทำดนตรีให้ร็อค ต้องการเพลงแด๊นซ์ ก็ทำดนตรีให้เต้นได้ ถ้าแต่งทำนองและเนื้อร้องก่อน ตัวเพลงนั้นอาจไม่เหมาะจะทำดนตรีในแบบที่ตั้งใจ ดังนั้น ทำดนตรีก่อนเลย เพื่อเป็นกรอบที่ชัดเจน
ทำดนตรีก่อน ไม่ได้หมายความว่าต้องทำดนตรีแบบเบ็ดเสร็จ นำไปใช้ได้เลย แต่ทำเป็นแนวทางหรือไกด์ไว้ เพื่อให้เรารู้ว่าดนตรีประมาณนี้ เครื่องดนตรีประมาณนี้ ใช้เป็นแนวทาง
สำหรับเพลงแรกของ ที ออ มี ผมกำหนดไว้ก่อนเลยว่า ต้องไม่ใช่เพลงช้าอกหัก เพลงขึ้นมาแล้วต้องน่าสนใจทันที นั่นคือ อินโทรต้องเพราะ ตั้งไว้ประมาณนี้ แล้วก็ลงมือ เล่นดนตรีวนไปวนมาในโปรแกรมทำเพลง ทำอยู่ไม่นาน ก็ได้ดนตรีอินโทร ดังนี้
พอได้อินโทร รู้สึกเลยว่าชอบแล้ว ก็ต่อยอดทำดนตรีต่อ โดยมีแค่คอร์ดที่เป็นเสียงเปียโนไฟฟ้า เสียงเบส และเสียงกลอง ทำไปจนจบเพลง นี่คือเสร็จขั้นตอนแรก ขั้นตอนนี้ตั้งชื่อเดโมที่ทำไว่อย่างสิ้นคิดว่า Good Feel Demo
2. แต่งทำนอง – เมื่อมีดนตรี ก็เท่ากับว่าได้กรอบแนวเพลงที่ชัดเจน ขั้นต่อมาคือแต่งทำนอง ผมใช้วิธีต่อไมค์ แล้วร้องด้น หรือ Improvise ไปเรื่อยๆ ร้องไปหลายๆ สิบรอบ โดยอัดเก็บไว้ทุกครั้ง ทำแบบนี้ เราจะเจอทำนองที่ชอบ ตรงไหนชอบก็เอามาตัดต่อให้เป็นทำนองเดียวกัน ทำไปจนกว่าจะพอใจ จนกว่าจะได้ทำนองเพลง
การแต่งทำนอง ผมแนะนำให้ใช้วิธี “ร้องอะไรก็ได้” เป็นวิธีทำทำนองที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ก่อนผมเคยแต่งทำนองโดยพยายามบันทึกเป็นเสียงเปียโน เสียงกีต้าร์ หรือเสียงเครื่องโซโล่เด่นๆ อย่าง ฟรุ๊ท หรือเครื่องเป่า แต่ทำนองมันจะฟังแข็งๆ ฟังเป็นเพลงบรรเลงมากกว่าเพลงร้อง
การ “ร้องอะไรก็ได้” หมายถึงให้ใช้เสียงเราเองจริงๆ ร้องออกมา จะเป็นภาษาต่างดาว ภาษาเอเลี่ยน ฮึมๆ ฮัมๆ ก็จงร้องออกมา อย่างบางวงดังๆ ที่ผมเคยฟังเดโมของทำนอง บางคนก็ร้องเป็นภาษาอังกฤษ ญี่ปุ่น หรือเกาหลี ที่ฟังไม่เข้าใจ ทำแรกๆ จะรู้สึกว่าดูไร้สติ อายตัวเอง ซึ่งผมก็เป็น และใครๆ ก็เป็น แต่การแต่งทำนองด้วยวิธีนี้ เป็นวิธีที่ได้ผลจริง เพราะมันคือการร้องออกมา เพลงคือสิ่งที่เราต้องร้องออกมา
นี่คือทำนองที่ผมร้องฮัมออกมา ได้แบบนี้
3. แต่งเนื้อร้อง – เมื่อได้ดนตรี ได้ทำนอง จะเห็นว่าเราได้ภาพที่ชัดเจนของเพลงที่จะบอกได้แล้วว่าเพลงนี้เขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไรได้บ้าง จากตัวอย่างทำนอง เพลงนี้ไม่ใช่เพลงอกหักแน่ๆ เป็นเพลงรักหวานหยดได้ ทิศทางประมาณนี้
ในขั้นตอนแต่งเนื้อ ขั้นแรกเลย ผมใช้วิธีฟังทำนองวนไปวนมา ตรงไหนใส่คำที่ชอบได้ ประโยคอะไรได้ ใส่ไปก่อนเลย วิธีที่ผมใช้ แนะนำให้อ่านจากเรื่อง “วิธีที่ทำให้ใครๆ ก็เขียนเนื้อเพลงได้”
พอได้เพลงครบทั้ง ดนตรี ทำนอง เนื้อเพลง ผมก็จะร้องไกด์เอาไว้ รอเพื่อนมาฟัง ร้องไกด์คือร้องให้เพื่อนจับทำนอง อารมณ์เพลงได้
นี่คือเพลงที่ผมร้องไกด์
4. นักร้องจริง ร้องเดโม – พอมีเดโม เรียกเพื่อนมาฟัง อย่างแรกที่ต้องทำคือหาคีย์ที่เพื่อนทั้งสองคนจะร้องได้ดี จากเดโมที่ผมทำไว้ พอให้เพื่อนมาลองร้อง พบว่าต้องเพิ่มคีย์ไปอีก +1 สูงขึ้นมาอีกครึ่งเสียง จึงจะได้โทนเสียงที่พอดีกับเพื่อนทั้งสองคน (ที ออ มี มีนักร้องสองคน ข้อกำหนดคือหนึ่งเพลงต้องร้องทั้งคู่ แต่เพื่อนผมไม่ใช่นิว จิ๋ว จะให้ร้องฟาดฟันกันแบบนั้นคงทำไม่ได้ ดังนั้นหาคีย์ที่พอดี ที่สองคนสลับกันร้องแล้วคีย์เหมาะกับทั้งคู่ เป็นเรื่องสำคัญ)
เมื่อได้คีย์ เพื่อนทั้งสองก็ต้องร้องไกด์ไว้ให้ตัวเองฟัง ไกด์ไว้ให้ผมทำดนตรี นี่คือไกด์แรก ที่นักร้องที ออ มี ร้องไว้
อย่างที่บอกตอนต้น เพื่อนทั้งสองไม่เคยมีประสบการณ์การมีผลงาน หรือผ่านห้องอัด ไกด์แรกก็จะงงๆ ร้องแบบไม่มั่นใจ สิ่งที่คนร้องเพลง กำลังจะมีผลงานของตัวเองครั้งแรก มักจะต้องเจอเหมือนๆ กันก็คือ ไม่รู้ว่าต้องร้องแบบไหน จึงจะเป็นเสียงที่แท้จริงของตัวเอง นักร้องของ ที ออ มี ก็ไม่ต่างจากคนอื่นๆ ร้องเพลงคนอื่นมาทั้งชีวิต เลียนแบบเสียง วิธีร้องของนักร้องที่ชอบได้เกือบทุกคน ยกเว้นร้องเป็นตัวเอง แต่ไม่เป็นไร นี่คือไกด์ เอาไว้ให้ผมทำดนตรีให้เข้ากับเสียง ไกด์ไว้ให้เห็นภาพรวมที่ชัดขึ้น
พอเพื่อนร้องไกด์ ดนตรีเดิมที่ทำไว้นิ่งๆ ก็ดูจะเบาบางไป สำหรับความเป็นเพลงเปิดตัว จากไกด์แรก ก็เป็นช่วงทำดนตรีแบบใช้จริง ซึ่งผมเลือกปรับดนตรีให้สดใสมากขึ้น ให้ใหญ่หรูกว่าเดโมแบบอารมณ์ที่เปลี่ยนไปมากอยู่ รวมทั้งปรับความเร็วเพลงให้เร็วขึ้นอีกเล็กน้อย
เรื่องการร้อง เพื่อนทั้งสองเข้ามาอัดร้องหลายวัน หลายครั้ง ปัญหาที่เจอคือ ความไม่มั่นใจ อย่างที่บอกคือ ไม่รู้ว่าร้องแบบไหนคือเสียงจริงๆ ของตัวเอง ระยะเวลาจากไกด์แรก จนร้องเสร็จ ทำดนตรีเสร็จ อยู่ที่ประมาณหนึ่งเดือน ซึ่งผมถือว่าค่อนข้างนาน แต่เพราะนี่คือเพลงแรก จึงต้องใช้เวลาในการค้นหาแนวทางนานกว่างานที่ทำทั่วไป
ในที่สุด “รอรัก” เพลงแรกของ ที ออ มี ก็สำเร็จออกมา ด้วยขั้นตอนนี้ นี่คือรอรักเวอร์ชั่นเสร็จสมบูรณ์
บทความตอนนี้ เน้นให้เห็นการเกิดขึ้น ขั้นตอน การเดินทาง ของเพลงหนึ่งเพลง โดยเริ่มจากการทำดนตรี แล้วแต่งทำนอง แล้วแต่งเนื้อเพลง วิธีนี้ทำให้คนทำเพลงรักษาแนวทางของดนตรีเอาไว้ได้ชัดเจน
อีกมุมหนึ่งที่อยากให้เห็นคือ เพลงหนึ่งเพลง เกิดขึ้นมาได้ ไม่ได้เกิดมาแล้วฟังดี สวยหรู เป็นอย่างที่เราได้ยินได้ฟังทันที เพลงแต่ละเพลงมีขั้นตอน อาจฟังแล้วธรรมดามากในตอนเริ่มต้น ฟังแล้วโคตรขำเวลาฮัมทำนอง แต่หน้าที่ของใครก็ตามที่ทำเพลง คือการค่อยๆ ปลูก ทำให้เพลงเติบโต ประกอบร่างจนเป็นเพลงที่สมบูรณ์
ปล.ถ้าสนใจบทความแนวนี้ ช่วยบอกผมให้รู้ ด้วยการไลค์เพจ เพื่อติดตามบทความต่อๆ ไป จะขอบคุณมากครับ คลิกไลค์เพจที่เพจไลค์ในหน้านี้ หรือไปที่ https://www.facebook.com/Vibedio/ แล้วกดไลค์เพจ เพื่อติดตามบทความกันต่อไปนะครับ
ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ