ปก SongWriting02

ทักษะที่ต้องมีของนักเขียนเนื้อเพลง

คนอยากแต่งเพลงมักมีคำถาม สงสัยว่าจะเขียนเนื้อเพลงได้ ต้องรู้อะไรบ้าง ต้องมีทักษะอะไรบ้าง บทความนี้ เราจะมาพูดถึงทักษะที่นักแต่งเพลงควรมีกัน

อยากแต่งเนื้อเพลงต้องมีทักษะอะไร
ตอบแบบหลักการโลกเสรี แบบที่เพลงเป็นเรื่องอิสระ ใครจะทำ จะเขียนอะไรก็ได้ ขอตอบว่า ไม่ต้องรู้อะไรเลยก็เขียนได้ ถ้าอยากเขียน อยากเขียนอะไรก็เขียนมา แต่คำถามต่อมาก็คือ ถ้าใช้หลักการแบบนี้ คนอื่นที่ฟังสิ่งที่เราเขียน จะรู้สึกว่าสิ่งนั้นคือเพลงหรือเปล่า อันนี้คงต้องดูที่ตัวเนื้องาน

ตอบแบบหลักคนทำงาน แบบอยากมีผลงานให้คนอื่นฟัง คนเขียนเนื้อเพลงได้ ควรจะมีทักษะดังนี้ คือ

1. ร้องเพลงถูกคีย์ จับทำนอง ร้องตามทำนองเพลงได้

ในการทำงานขั้นตอนปกติของเพลงที่เราฟังทั่วไป จะเกิดจากการแต่งทำนองก่อน แล้วคนแต่งเนื้อเพลง เขียนเนื้อร้องทีหลัง สวมลงไปในทำนอง ถ้าร้องเพลงไม่ได้ จับทำนองไม่ได้ โอกาสเขียนเนื้อเพลงได้ก็แทบเป็นศูนย์ ดังนั้นคนแต่งเนื้อเพลงควรร้องเพลงได้ จับทำนองเพลงได้ ร้องถูกคีย์

ร้องเพลงได้ ไม่ได้หมายถึงต้องร้องเพราะ แต่รู้ว่าสิ่งที่ร้อง ทำนองเป็นอย่างไร แม่นในทำนอง

2. ใช้ภาษาได้ถูกต้อง

หมายถึงเรียบเรียงคำพูด เรียบเรียงการเขียน ให้คนอื่นเข้าใจได้แบบไม่ต้องงงงวย สื่อความได้ชัด แยกความต่างระหว่างประโยค เช่น “ไปเรียน” และ “ไปโรงเรียน” ได้ ว่าเขียนคล้ายกัน แต่สองประโยคนี้คนละความหมาย คนละความชัดเจน

การใช้ภาษาถูกต้องของนักเขียนเนื้อ ไม่ใช่การต้องรู้ฉันทลักษณ์แบบคุณครูภาษาไทยหรือนักวิชาการ แต่มองที่การเขียนตรงเป้าหมาย สื่อความชัด

3. รู้เสียงวรรณยุกต์

ภาษาไทยมีเสียงวรรณยุกต์ 5 เสียง คือ สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ซึ่งทำให้คำที่ออกเสียงคล้ายกัน ต่างความหมายกัน อย่างคำว่า มา และ หมา (ม๋า)

เรื่องเสียงวรรณยุกต์กับการเขียนเนื้อเพลง เกี่ยวพันกันด้วยทำนอง ทำนองเป็นตัวกำหนดให้เสียงวรรณยุกต์ออกเสียงได้ถูกต้อง ถ้าไม่รู้เรื่องนี้ เจอทำนองแล้วตั้งใจใส่ให้ร้องว่า “มา” แต่ทำนองอาจทำให้ออกเสียงกลายเป็น “ม้า” หรือ “หมา” ไปได้ ดังนั้นเรื่องเสียงวรรณยุกต์นี้เป็นเรื่องต้องรู้

แต่อย่างที่บอก นักเขียนเนื้อต้องรู้ภาษาไทยแบบนำมาใช้เป็น ไม่ใช่แบบคุณครูหรือนักวิชาการที่ต้องรู้เป๊ะๆ ตามหลักไวยากรณ์ นักแต่งเนื้อเก่งๆ หลายคน ก็ไม่ได้บอกได้ว่า คำว่า “โจ๊กหมู” เป็นคำที่ออกเสียงด้วยเสียงวรรณยุกต์แบบไหน (ซึ่งโจ๊กหมู ออกเสียงด้วยเสียง โจ๊ก-เสียงตรี หมู-เสียงจัตวา) แต่นักเขียนเนื้อเพลงต้องรู้ว่า ในทำนองเพลงที่ใส่คำว่า “โจ๊กหมู” ได้ จะใส่คำว่า “ฮะเก๋า” แทนโจ๊กหมูได้ แต่ยากที่จะใส่คำว่า “ก๋วยเตี๋ยว” ลงไปแทน “โจ๊กหมู” เพราะโจ๊กหมูและฮะเก๋า มีเสียงวรรณยุกต์เหมือนกันคือเสียง ตรี-จัตวา แต่ก๋วยเตี๋ยว มีเสียง จัตวา-จัตวา

เรื่องการรู้เสียงวรรณยุกต์นี้ ถ้าอธิบายแบบไม่อิงหลักภาษาหรือเรื่องวรรณยุกต์ ก็คือการที่นักเขียนเนื้อ เขียนเนื้อเพลงแล้วใส่ลงไปในทำนอง ร้องออกมาแล้ว คำไม่เพี้ยน ไม่เหน่อ ไม่ผิดความหมาย

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ขอยกตัวอย่างจากเพลงที่ผมแต่ง เพราะถ้ายกเพลงคนอื่นมา อาจเป็นการเสียมรรยาทได้ จงฟังเพลงต่อไปนี้ ให้จบ 12 รอบ เริ่ม …

ที่ให้ฟัง 12 รอบ เพื่อให้จำทำนองได้ โดยตัวอย่างที่อยากจะยกมา เป็นท่อนที่ร้องว่า “นะเธอ นะเธอ นะเธอ” แค่นี้ (แล้วจะให้ฟัง 12 รอบเพื่อ?) ลองเลือกคำมาแทนคำว่า “นะเธอ” ดู ถ้าคนเข้าใจเรื่องเสียงวรรณยุกต์ที่ต้องสอดคล้องกับทำนอง จะเลือกคำมาแทนได้มากมาย เช่น “ชะนี ชะนี ชะนี” หรือ “ยุพิณ ยุพิณ ยุพิณ” หรือ “เก๊กซิม เก๊กซิม เก๊กซิม” คำที่ยกตัวอย่างมา ใช้กับทำนองนี้ได้ เพราะร้องแล้วออกเสียงคำไม่ผิดเพี้ยน ไม่เสียความหมาย

แต่ถ้าเราลองเอาคำอื่นๆ ที่เสียงวรรณยุกต์ไม่เข้ากับทำนอง มาใส่ในท่อน “นะเธอ นะเธอ นะเธอ” อย่างคำว่า “ขอนแก่น ขอนแก่น ขอนแก่น” หรือ “ญาญ่า ญาญ่า ญาญ่า” หรือ “หมี่แห้ง หมี่แห้ง หมี่แห้ง” พยายามร้องยังไง เราก็จะพบว่า ถ้าจะร้องโดยยึดทำนอง เราออกเสียงให้ถูกต้องไม่ได้

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่คนจะเขียนเนื้อเพลงได้ ต้องเข้าใจ

4. รู้สัมผัส

แบบย่อๆ ตามหลักภาษา สัมผัสของภาษาไทยแบ่งออกเป็น สัมผัสสระ กับสัมผัสอักษร คำว่า “รัก” และ “มัก” คือคำสัมผัสสระ คำว่า “ร่วม” และ “รัก” คือสัมผัสอักษร นี่คือการต้องรู้ตามหลักภาษา

สำหรับคนเขียนเนื้อเพลง เรื่องสัมผัส เกี่ยวพันกับการเขียนให้เข้ากับทำนอง ถ้าเป็นการแต่งกลอนอย่างกลอนแปดแบบสุนทรภู่ จะมีข้อกำหนดตายตัวว่าคำนี้ตรงนี้ ต้องสำผัสกับอีกคำตรงไหน แต่การเขียนเนื้อเพลง ไม่มีใครกำหนดรูปแบบให้ เพลงแต่ละเพลง คำไหนควรสัมผัสกัน ต้องใช้วิจารณญาณในการฟังจากทำนอง คนเขียนเนื้อเพลง จึงต้องรู้จักจัดสัมผัสให้เข้ากับทำนอง

เรื่องสัมผัส เป็นเรื่องความสวยงามของภาษาไทย เพลงมีสัมผัส ทำให้การร้องสนุกปาก แต่ถามว่าสัมผัสเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเหมือนการแต่งกลอนไหม เพลงต้องมีสัมผัสสอดคล้องกันไปทั้งเพลงไหม ขอตอบจากมุมเพลงที่มีในปัจจุบันว่า สัมผัสไม่ใช่เรื่องต้องมีมากมายเหลือเฟือในเพลง สัมผัสของเพลง ควรต้องสอดคล้องกับทำนองเพลง มากกว่าที่คนเขียนเนื้อจะยึดติดว่าเพลงหนึ่งเพลง ต้องมีสัมผัสภาษาสอดประสานกันไปทั้งเพลง ดังนั้นจะตัดสินใจเรื่องสัมผัส ต้องฟังจากทำนองเพลง

ย้ำอีกที เรื่องสัมผัสเป็นเรื่องความสวยงามของภาษาไทย นักหัดเขียนเนื้อเพลงเริ่มต้น ควรฝึกฝนการเขียนเพลงให้มีสัมผัสที่ดีก่อน แต่เนื้อเพลงที่ไม่มีสัมผัส ก็ใช่ว่าจะใช้ไม่ได้ ข้อที่ต้องระลึกก็คือ ถ้าเขียนเนื้อไม่มีสัมผัส ความหมายของสิ่งที่เขียนยิ่งต้องชัดเจน

สรุปเรื่องสัมผัสแบบสั้นๆ คือ นักเขียนเนื้อเพลง ต้องจัดการสัมผัสให้เข้ากับทำนองเพลงได้อย่างเหมาะสม

4 ทักษะข้างต้น เน้นย้ำว่าคนจะเขียนเนื้อเพลง ควรต้องเข้าใจแบบ “นำมาใช้เป็น” ไม่ใช่แบบนักเรียนท่องจำ การใช้ทักษะในด้านภาษาเป็น ก็เหมือนการผวนคำเป็น คนผวนคำเป็นจะผวนคำว่า “โยคี” เป็น “ยีโค” โดยไม่ต้องคิด เจอคำว่า “โจ๊กหมู” “ลำไย” ก็ผวนได้ทันที โดยไม่ต้องหากระดาษมาเรียงคำใหม่

การมีทักษะด้านภาษาคือการใช้ได้ ใช้เป็น เรามองกันที่มุมนี้

ถ้าคุณสนใจเรียนแต่งเพลงแบบเห็นภาพ เข้าใจแบบเจาะลึก ทำตามได้ทุกขั้นตอน ทางเพจมนุษย์ทำเพลง มีคอร์สเรียนสอนแต่งเพลง ทั้งเนื้อร้องและทำนอง

ดูรายละเอียดคอร์สเรียน “เขียนเนื้อเพลง” ==>คลิก

ดูรายละเอียดคอร์สเรียน “แต่งทำนองเพลง” ==>คลิก

ฟังตัวอย่างงานเพลงที่ผมแต่ง ==>คลิก

Scroll to Top