Spatial Audio

เสียงรอบทิศทาง Spatial Audio คืออะไร

ฟังเพลงแบบเสียงรอบทิศทาง เป็นของจำเป็นไหม?

แล้วคนทำเพลงจะเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้อย่างไร?

คำถามเหล่านนี้เริ่มคลี่คลาย เมื่อผมถูกชวนไปฟังเพลงแบบ Spatial Audio 

ในรอบไม่กี่ปีนี้ ผู้ให้บริการในระบบฟังเพลงรายต่างๆ เปิดบริการการฟังเพลงแบบ “Dolby Atmos” หรือระบบเสียงรอบทิศทาง เป็นบริการที่กำลังเติบโต โดยมีเพลงที่อยู่ในฟอร์แมตนี้แล้ว ทั้งเพลงใหม่และเพลงเก่า เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ 

ผมเองในฐานะคนทำเพลงอิสระ ที่สร้างงานเองตั้งแต่ต้นจนจบขั้นตอนการมิกซ์เอง ทำงานในรูปแบบ Home Studio ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ เรื่องเพลงในระบบ Dolby Atmos เป็นแค่การติดตามข่าว ติดตามเทคโนโลยี แต่ไม่ใช่ความสนใจในแบบที่ตัวเองรู้สึกว่าจะต้องทำ โดยความไม่สนใจนี้ตั้งอยู่บนคำถามสองข้อคือ

1. ทำไมเราจะต้องฟังเพลงแบบรอบทิศทาง? – การฟังเพลงแบบ Stereo หรือระบบ 2 ลำโพง น่าจะเหมาะกับการฟังเพลงอยู่แล้ว เพลงไม่ใช่หนังระเบิดเขาเผากระท่อม ทำไมเราต้องได้ยินเครื่องดนตรีมาวนรอบตัว

2. การมิกซ์งานแบบ Dolby Atmos ใช้ทรัพยากรณ์มาก ทั้งเรื่องอุปกรณ์และสถานที่ ที่ต้องเพิ่มขึ้นมากมายกว่าการทำงานในระบบ Stereo อย่างมหาศาล ศิลปินอิสระหรือคนทำงานแบบ Home Studio ที่สร้างงานเองทั้งหมด จะมีกำลังเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ยังไง? 

จากคำถามของผม จะเห็นว่าเป็นคำถามที่แทนตัวเองจากคนสองกลุ่ม คือกลุ่มคนฟัง และกลุ่มคนสร้างงาน

แต่แล้วความสนใจในเรื่องเพลงระบบเสียงรอบทิศทาง Dolby Atmos ของผม ก็เริ่มเกิดขึ้น เมื่อผมถูกชวนไปฟังเพลงแบบ Spatial Audio โดย Apple

ทีนี้มีคำหลายคำ ที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อน

Stereo – คือระบบการฟังเพลงแบบลำโพงซ้ายขวา หรือระบบ 2-Track ที่เป็นมาตรฐานการฟังเพลงที่เราใช้กันมากว่า 50 ปีแล้ว

Dolby Atmos – คือระบบเสียงที่ใช้แหล่งกำเนิดเสียงหลายตำแหน่ง หรือให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ การฟังเสียงจากลำโพงรอบทิศทาง โดยตลอดมาเราอาจได้ยินระบบเสียงรอบทิศทางหลายๆ แบบ เช่น 5.1, 7.1 ซึ่ง Dolby Atmos ก็คือระบบที่มีจำนวนตำแหน่งลำโพงมากขึ้น

Spatial Audio – เฉพาะคำว่า Spatial (คนละคำและเขียนไม่เหมือนกับ Special) ในด้านเสียงจะหมายถึงการ “จำลองพื้นที่การฟัง” แต่ในบทความนี้ Spatial Audio จะหมายถึง ระบบการฟังเพลงแบบเสียงรอบทิศทางโดย Apple

มีสิ่งที่น่าจะสับสนกันมากก็คือ แล้ว Dolby Atmos กับ Spatial Audio คือสิ่งเดียวกันไหม

คำตอบคือ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่เป็นสิ่งที่ใช้ต่อเนื่องกัน  นั่นคือ Dolby Atmos คือระบบเสียง (เช่นไฟล์เพลงที่ทำมาเป็น Dolby Atmos) ส่วน Spatial Audio คือวิธีการฟังเสียงรอบทิศทางอย่าง Dolby Atmos ด้วยอุปกรณ์ของ Apple

ระบบ Dolby Atmos ไม่ใช่สิ่งที่ห่างไกลตัวคนทั่วไป เพราะการเข้าถึงระบบเสียงนี้ สามารถฟังได้จากทั้งการดูหนังในโรง และมีอุปกรณ์หลากหลายที่ทำออกมาเพื่อรองรับ Dolby Atmos เช่น ลำโพงแบบ Sound bar, หูฟัง, ทีวี ฯลฯ แต่ส่วนใหญ่อุปกรณ์เหล่านี้จะทำมาเพื่อฟัง Dolby Atmos ในแบบจำลองระบบลำโพงรอบทิศทาง โดยที่ไม่ได้มีลำโพงรอบทิศทางจริงๆ

ห้องมิกซ์ที่รองรับระบบ Dolby Atmos

การจำลองการฟัง โดยที่ไม่ได้มีลำโพงอยู่รอบทิศทางจริงๆ เป็นการทำให้ผู้ฟังทั่วไป เข้าถึงระบบการฟังแบบ Dolby Atmos ได้โดยง่าย

แต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัดก็คือ การจำลองนั้น จะไม่ได้ระบุตำแหน่งเสียงได้ทั้งหมดเหมือนการมีลำโพงรอบทิศทางจริงๆ สิ่งที่การจำลองให้ได้คือ ความรู้สึกว่ามีเสียงโอบล้อมจากระยะ ซ้าย ขวา หน้า หลัง ใกล้ ไกล แต่จะไม่ได้ละเอียดขนาดที่บอกได้ว่าเสียงมาจากด้านบน ด้านล่าง  แปลว่าเราไม่ได้ฟังเสียงแบบที่เป็นรอบทิศทางจริงๆ แต่ฟังแค่ในระนาบเดียว ไม่ได้มีมิติความสูง ต่ำของตำแหน่งเสียง

การจำลองการฟัง จึงต่างกับการฟังจากลำโพงรอบทิศทางจริงๆ ที่เราระบุตำแหน่งเสียงได้จากลำโพงที่ให้เสียงออกมา ไม่ว่าลำโพงนั้นจะอยู่ตำแหน่งสูงต่ำตรงไหนรอบตัวเรา เราบอกตำแหน่งได้แบบชัดเจนจากการฟังลำโพงจริง

ผมเองติดเรื่องการจำลองเสียงแบบเดิม ที่พอนำมาใช้กับเพลง จะรู้สึกไปทางไม่สมจริง จึงเหมาะกับใช้ดูหนัง เล่นเกมส์ มากกว่า

แต่พอได้ฟังเพลงแบบ Spatial Audio ก็ต้องบอกว่า ความคิดเห็นเรื่องนี้เปลี่ยนไปมาก

การฟังแบบ Spatial Audio ในวันที่เขียนบทความนี้ สามารถฟังได้ผ่าน AirPods(Gen3), AirPods Pro(ทั้ง Gen1 และ Gen2) และ AirPods Max ซึ่งเป็นอุปกรณ์ฟังเพลงแบบพกพาจาก Apple

ประสบการณ์ที่ได้จาก Spatial Audio ก็คือ การรู้สึกถึงการมีลำโพงรอบทิศทางจริงๆ แบบที่วางอยู่ในพื้นที่รอบตัวจริงๆ คำสำคัญตรงนี้คือ ลำโพงจริงและพื้นที่จริง

Spatial Audio ทำให้รู้สึกว่ามีเสียงรอบตัว รอบด้านจริงๆ ทั้งในระนาบด้านหน้าหลังซ้ายขวาบนล่าง ชัดเจนแบบที่เราเอามือชี้ได้ว่าเราได้ยินเสียงจากลำโพงมุมบนด้านขวา

เลยกลายเป็นว่าผมไม่แน่ใจว่าจะเรียก Spatial Audio  ว่าเป็นการจำลองเสียงได้ไหม เพราะสิ่งที่ได้ยิน สมจริงสมจังของความมีเสียงจากแหล่งเสียงที่เกิดจากพื้นที่รอบตัวจริงๆ

อีกสิ่งที่ Spatial Audio ทำได้ก็คือการมีระบบ Head Tracking ซึ่งเป็นระบบการจับการเคลื่อนไหวศีรษะของเรา แล้วทำให้เสียงที่ฟังสอดคล้องกับการหันหน้าของเรา เช่น เราหันหน้าตรง เราจะได้ยินเสียงจากตรงหน้าชัด พอเราหันหน้าไปทางอื่น เสียงก็จะเปลี่ยนไป หรือพอเราได้ยินเสียงจากด้านบน พอเราเงยหน้าขึ้นไปฟัง เสียงจากตำแหน่งนั้นจะชัดเจนขึ้น แล้วเกิดความเปลี่ยนแปลงกับเสียงอื่นๆ ด้วย เหมือนเราหันหน้าไปฟังจากแหล่งเกิดเสียงจริงๆ

พอฟังเพลงจาก Apple Music ที่ทำมาในระบบ Dolby Atmos ผ่าน Spatial Audio ความรู้สึกก็คือ ไม่ใช่แค่การมีดนตรีวิ่งวนรอบตัว แต่เหมือนการที่เราอยู่ในพื้นที่ เช่นห้อง ที่มีเสียงเกิดขึ้นได้จากหลายทิศทาง จนกลายเป็นมิติความหลากหลายทางเสียง

สิ่งนี้เหมือนป็นความตื่นเต้น ในการฟังครั้งแรกๆ แต่พอตั้งใจฟังแล้ววิเคระห์สิ่งที่เกิดขึ้น ความแตกต่างระหว่างการฟังแบบ Stereo เทียบกับ Spatial Audio ก็คือ เรามีพื้นที่การฟังมากขึ้น ทำให้เสียงต่างๆ กระจายตัวไปในพื้นที่กว้าง หรือยกตัวอย่างให้เห็นภาพก็เช่น การฟังระบบ Stereo แบบเดิม เหมือนเราให้วงดนตรี นักร้อง เครื่องดนตรีทุกชิ้น มาเล่นให้เราฟัง ในช่วงระยะตรงหน้าเรา จากด้านซ้ายถึงขวา เป็นระนาบเดียว แล้วคนมิกซ์ก็ต้องจัดให้เสียงแต่ละอย่างอยู่รวมกันได้ดี บนพื้นที่ตรงหน้านี้

แต่พอเป็น Spatial Audio เรามีพื้นที่จะวางเสียงไว้ตรงไหนก็ได้รอบตัวเรา ซึ่งก็คือการเพิ่มพื้นที่การฟังให้กว้างมากขึ้นมากๆ

ทีนี้การมีระบบ Head Tracking จะมีประโยชน์ยังไงกับคนฟังเพลง ตรงนี้ผมมองว่า จะทำให้การเชื่อมกันระหว่างเพลงและคนฟัง มีปฏิสัมพันธ์กันในรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

เช่น เราฟังเพลงหนึ่ง แล้วถึงท่อนโซโลกีตาร์ ซึ่งเราชอบมาก เราสามารถหันหน้าไปทางเสียงกีตาร์เพื่อได้ยินหรือมีโฟกัสที่เสียงกีตาร์ได้ 

หรือถ้าเราฟังเพลงของศิลปินที่เป็นนักร้องกลุ่ม แล้วมีท่อนที่ร้องพร้อมกัน เราสามารถมองไปทางนักร้องที่เราเป็นด้อม เพื่อได้ยินเสียงที่ชัดขึ้นได้

หรือถ้าไม่ได้ใช้ฟังเพลง การฟังเพื่อสร้างบรรยากาศก็ทำได้ เช่น เราต้องการอ่านหนังสือในบรรยากาศริมทะเล ขณะที่เราอยู่ในร้านกาแฟ การฟังเสียงริมทะเล ผ่าน Spatial Audio ก็เหมือนพาทะเลมาอยู่ตรงหน้า เพราะเราสร้างความสงบได้จากระบบ Noise Canceling พาเราออกจากเสียงรบกวนรอบด้าน แล้วฟังเสียงทะเลที่เราจะได้ยินคลื่นแบบมีมิติสมจริง หันไปฟังเสียงลมพัด นกร้อง รอบๆ ตัวได้ 

ผมมองว่าสำหรับคนฟัง จะมีวิธีใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ได้อีกมาก ส่วนในมุมคนสร้างคอนเทนต์ ก็ต้องใส่ใจการมิกซ์ ให้เข้ากับพฤติกรรมการขยับท่าทางมากขึ้น เช่น เราอาจมีเพลงที่เป็น Club mix แบบ Dolby Atmos ซึ่งเมื่อผู้ฟังขยับหัวตามจังหวะ ก็ได้ความบูม ความกระชับของเบสเพิ่มขึ้น ทำให้การฟังเพลงสอดรับกับท่าทาง เหมือนอยู่ในผับจริงๆ

แม้ผมจะบอกว่าผมเพิ่งได้สัมผัสกับ Spatial Audio แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าคุณมี AirPods รุ่นที่รองรับระบบนี้ คุณก็ใช้งานได้เลย โดยคุณต้องเปิดให้ AirPods ของคุณทำงานระบบ Spatial Audio และฟังเสียงจากแหล่งเสียงที่ทำมาในระบบ Dolby Atmos

ทีนี้กลับมาที่คำถามว่า ระบบการฟังเพลงรอบทิศทางแบบนี้ เป็นเรื่องจำเป็นไหม ซึ่งผมตอบได้ว่ายังไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน

แต่เรื่องนี้ เหมือนกับหลักการที่ว่า ทีวีของเราดีเพียงพอต่อเรา จนเราได้ดูทีวีที่ชัดกว่า แล้วทีวีเครื่องเดิมของเรา จะไม่เพียงพอสำหรับเราอีกต่อไป ซึ่งตอนนี้ผมอยู่ในสภาวะนั้น คือถ้าทำได้ ก็อยากฟังเพลงและมีเพลงของตัวเอง ในแบบที่ฟังได้จาก Spatial Audio 

ทีนี้มองในมุมของคนทำงานเพลง การที่คนทำงานเพลงเอง(แบบผม) จะมิกซ์ในระบบ Dolby Atmos นั้น เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะถ้าจะทำห้องมิกซ์ด้วยลำโพงจริง ที่รองรับระบบนี้ สเปคขั้นต่ำที่แนะนำก็คือระบบ 7.1.4 หมายความว่า มีลำโพงรอบด้าน 7 ตัว ซับวูฟเฟอร์ 1 ตัว และลำโพงจากด้านบนอีก 4 ตัว

จะเห็นว่า ถ้าคุณจะทำห้องมิกซ์ที่รองรับ Dolby Atmos ได้ คุณต้องมีห้องที่มีพื้นที่เพียงพอ และใช้งบมากทั้งเรื่องลำโพง, Audio Interface ที่มากกว่าการมิกซ์ในระบบ 2-Track เป็นหลายๆ เท่า

แม้จะมีการพยายามให้มีระบบจำลองการมิกซ์แบบ Dolby Atmos ด้วยหูฟังได้ บนโปรแกรมทำเพลงหลายๆ ตัว แต่ก็เป็นการจำลองที่ไม่ได้สมบูรณ์ ตามที่พูดถึงไปก่อนหน้า โดยขาดเรื่องตำแหน่งความสูงต่ำจากลำโพง

ดังนั้น การจบงานแบบ Dolby Atmos จึงค่อนข้างเป็นเรื่องชวนฝัน สำหรับคนทำงานเพลงแบบ Home Studio

แต่แล้วก็มีจุดเปลี่ยนแปลง ที่ผมมองว่าสำคัญจริงๆ ต่อคนทำเพลง นั่นคือการที่โปรแกรม  Logic Pro สามารถมิกซ์และฟังด้วย Spatial Audio ได้ และใช้ Head Tracking ได้

Logic Pro รองรับการทำงานมิกซ์เสียงรอบทิศทางด้วย Spatial Audio

อย่างที่เล่าไปแล้วว่า Spatial Audio นั้น เหมือนพาเราไปอยู่ในห้องหนึ่ง ที่มีลำโพงอยู่รอบตัวเราจริงๆ และการหันหน้าของเราก็มีผลต่อการได้ยิน ก็แปลว่านี่คือการจำลองเหมือนเราอยู่ในห้องมิกซ์จริงๆ และใช้การหันหน้าหันหู ฟังโฟกัสเสียงต่างๆ ได้ เหมือนตอนเราทำงานมิกซ์กับลำโพงจริงๆ 

การมิกซ์จบงานบนระบบ Dolby Atmos โดยใช้ Logic Pro และ Spatial Audio ผ่าน AirPods จึงกลายเป็นเรื่องที่นักทำเพลงในแบบ Home Studio สามารถทำได้เอง

ทีนี้หลายคนจะเริ่มมีคำถามเอ๊ะดังๆ ว่า จะให้จบงานมิกซ์บน AirPods จะโอเคหรือ

ซึ่งตรงนี้ผมมองแบบนี้ว่า อยู่ที่การออกแบบวิธีการทำงานของเรา โดยเราต้องมิกซ์เพลงให้ได้คุณภาพจบงานในระบบ 2-track ก่อน

ส่วนการทำ Dolby Atmos ด้วย AirPods นั้น งานหลักคือการวางตำแหน่งเสียงที่ผ่านการมิกซ์ของแทรคต่างๆ แล้ว หรือก็คือการ Pan ไปที่ตำแหน่งต่างๆ โดยจัดการกับโทนเสียงน้อยที่สุด

เราจึงใช้ Spatial Audio และ AirPods เป็นเครื่องมืออ้างอิงตำแหน่งได้ ส่วนเรื่องของโทนเสียง คูณภาพเสียง เราฟังและตัดสินใจจากการมิกซ์ 2-Track จากลำโพง Studio Monitor ที่เราใช้ทำงานมิกซ์เป็นหลัก

อีกมุมหนึ่งก็คือ เรามิกซ์โดย Spatial Audio เพื่อคนใช้งาน Spatial Audio หมายความว่าเราจบงานบน AirPods เพื่อให้คนฟัง(ส่วนใหญ่)ฟังบน AirPods การที่คนมิกซ์และคนฟัง ใข้อุปกรณ์การฟังแบบเดียวกัน ผลการได้ยินก็ย่อมใกล้เคียงกันที่สุด ดังนั้น AirPods จึงใช้เป็นมาตรฐานให้งานมิกซ์ที่ใช้ฟังแบบ Spatial Audio ได้

สรุปคือการมาถึงของ Spatial Audio ทำให้การฟังเพลงแบบ Dolby Atmos สามารถอยู่กับคนฟังได้ในทุกที่ 

ส่วนการใช้ Spatial Audio ทำงานได้บน Logic Pro ก็คือการเปิดโลกให้คนทำเพลง จบงาน Dolby Atmos ได้ด้วยตัวเอง

เมื่อเทคโนโลยีมาในทิศทางนี้ ยังไงคนทำเพลงก็คงต้องพยายามจบงานเพลงบน Dolby Atmos ให้ได้ ซึ่งสิ่งนี้ในตอนนี้ ไม่ใช่ความจำเป็น แต่น่าจะเป็นมุมมองว่า เรามีวิธีส่งงานของเราไปถึงคนฟังด้วยคุณภาพการฟังที่ดีขึ้น และถ้าการทำนั้นไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ทำไมเราจะไม่ทำ

Scroll to Top