Vocal 101

ขั้นตอนการจัดการเสียงร้อง จากเริ่มต้นจนเป็นเพลง

ขั้นตอนการจัดการเสียงร้อง ตั้งแต่ตั้งไข่ยันโบยบิน ของชาว Home Studio

ในงานเพลงแบบเพลงร้อง เสียงร้องนับเป็นสิ่งสำคัญสุดในเพลง นอกจากนักร้องจะเสียงดีและความสามารถดี การบันทึกเสียงร้อง การตัดต่อและการมิกซ์ ถือเป็นงานสำคัญที่จะถ่ายทอดน้ำเสียงและอารมณ์ของเสียงร้องให้ไปสู่คนฟัง บทความตอนนี้ เราจะมาดูขั้นตอนการทำงานเพื่อบันทึกเสียงร้อง และจัดการตกแต่งเสียงร้องในแบบชาว Home Studio กัน

อุปกรณ์

อุปกรณ์สำคัญในการบันทึกเสียงร้องก็คือไมโครโฟน รวมทั้ง ไมค์ปรี ศิลปินระดับโลกหรือศิลปินชั้นนำ ล้วนมีไมค์และไมค์ปรีคู่ตัว ที่เหมาะกับเสียงร้องของตัวเอง เพราะไมค์และไมค์ปรีแต่ละตัวให้เสียงต่างกัน การค้นพบไมค์และไมค์ปรีที่ส่งเสริมเสียงตัวเองให้โดดเด่นที่สุดจึงเป็นเรื่องต้องใส่ใจและค้นหา แต่สำหรับชาวโฮมสตูดิโอส่วนใหญ่ ตัวเลือกเรื่องไมค์และไมค์ปรี แทบไม่มีเลย ส่วนใหญ่ใช้ไมค์แบบตัวเดียวอันเดียวจบทั้งงาน ไมค์ปรีก็ใช้ของที่ติดมากับ Audio Interface ซึ่งถามว่าเพียงพอต่อการทำงานไหม ตอบได้ว่าเพียงพอ สำคัญคือตอนเลือกซื้อ

ถ้าต้องมีไมค์ตัวเดียว เลือกซื้อไมค์ที่ได้มาตรฐานก่อนเลย ไมค์ที่ขายในตลาดมีตั้งแต่ราคาระดับหลักร้อยบาทเป็นต้นไป แต่ไมค์ที่ได้มาตรฐานแบบทำงานได้ เริ่มที่ประมาณ 3500 บาทขึ้นไป ถ้าจะซื้อไมค์แบบตัวเดียวอันเดียว จัดงบประมาณขั้นต่ำไว้ให้พอซื้อไมค์ระดับนี้หรือดีขึ้นไปให้ได้ก่อน

ไมค์ร้องมาตรฐานที่ทั่วโลกยอมรับก็คือ Shure SM58 แต่ SM58 ไม่ใช่ตัวเลือกเดียว บางทีถ้าต้องมีไมค์ตัวเดียวแล้วต้องอัดกีต้าร์หรือเครื่องดนตรีอื่นๆ ด้วย การเลือก Shure SM57 อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทั้ง SM58 และ SM57 เป็นของมาตรฐานที่อยู่คู่วงการมาหลายสิบปี แต่ก็มีไมค์ตัวเลือกใหม่ๆ ในยุคโฮมสตูดิโอเติบโตเกิดขึ้นอย่าง เช่น SE X1A, SE Magneto, Rode M3, Audio-Technica AT2020 เป็นต้น ไมค์ที่กล่าวมาเป็นไมค์ระดับเริ่มต้นที่ทำงานได้ ใช้เป็นไมค์ตัวเดียวอันเดียวอัดทุกอย่างในการทำงานได้ สำคัญคือการหาข้อมูลให้แน่ใจ ว่าไมค์ตัวไหนเหมาะกับการทำงานและแนวเพลงของเรา เพราะถึงเป็นไมค์มาตรฐาน ระดับราคาใกล้กัน แต่ก็ให้เสียงต่างกัน และไม่มีคำว่าดีที่สุดในการเลือก แต่จงเลือกจากมุมมองที่ว่า เหมาะกับเรา เหมาะกับแนวที่ทำ จะทำให้เลือกไมค์ได้ตรงจุด ตรงงาน

คำว่าไมค์มาตรฐาน ก็คือไมค์ที่เก็บเสียงได้ดี ไม่ปรุงแต่งเยอะ ไม่เป็นไมค์เฉพาะทาง ที่ใช้เก็บเสียงเครื่องดนตรีแบบเจาะจงชนิด เพราะไมค์เฉพาะแบบนั้นจะทำงานได้ดี โดยมีการจัดการความถี่ในย่านที่เหมาะสมกับเครื่องดนตรีนั้นๆ ซึ่งอาจไม่เหมาะกับการอัดเสียงร้อง การใช้ไมค์ที่เก็บเสียงแบบมาตรฐานธรรมดานี้ ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น ในขั้นตอนการมิกซ์งาน

ส่วนไมค์ปรี ในตอนเริ่มต้น ใช้ของที่ติดมากับ Audio Interface ไปก่อน เมื่อมีงบประมาณมากขึ้น เข้าใจแนวทางของงาน เข้าใจความต้องการของงาน ค่อยขยับขยาย หาไมค์ปรีที่เหมาะกับเราและเหมาะกับไมค์มาใช้

สถานที่

สถานที่ที่ใช้ทำงานได้ก็คือ ห้องที่เงียบพอและไม่ก้องเกินไป ถ้าเข้าหลักการนี้คือใช้ทำงานได้ เรื่องห้องเงียบเป็นเรื่องที่จัดการยากเพราะเกี่ยวกับสถานที่ตั้งของห้องนั้นๆ โดยตรง เช่นติดถนน ติดชุมชน แบบนี้ก็ยากที่จะเงียบจนใช้อัดเสียงได้ แต่แม้ห้องที่อยู่ในทำเลที่เป็นชุมชน ก็อาจมีช่วงเวลาที่ทำงานได้เช่นช่วงดึกมากๆ คนไม่พลุกพล่าน แต่ช่วงเวลานั้นตอบโจทย์หรือสะดวกต่อการทำงานหรือไม่

ส่วนเรื่องห้องเสียงก้องเกินไป มีวิธีจัดการได้หลายรูปแบบ หลักการก็คือทำให้ห้องมีพื้นที่รับเสียงสะท้อนจากกำแพงให้น้อยลง ซึ่งทำได้โดยการทำให้ห้องมีของมากขึ้น รกขึ้น รวมทั้งการสร้าง Vocal Booth หรือห้องสำหรับอัดร้องชั่วคราว

การบันทึกเสียง

เมื่ออุปกรณ์พร้อม สถานที่พร้อม ขั้นต่อมาคือการบันทึกเสียง การบันทึกเสียงในยุคอนาลอกหรือยุกเริ่มต้นของระบบดิจิตอล มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนแทรกในการอัด ความเร็วฮาร์ดดิสก์ ความสามารถของคอมพิวเตอร์ ทำให้ในการอัดร้องหรือเครื่องดนตรีใดๆ ต้องอัดไปเลือกไปว่าเสียงที่อัดอยู่ใช้ได้หรือยัง แล้วลบเทคที่คิดว่าใช้ไม่ได้ออกไป

แต่ในปัจจุบัน เราข้ามข้อจำกัดเรื่องอุปกรณ์มาแล้ว คอมพิวเตอร์ที่คุณซื้อมาภายในระยะเวลา 5 ปี มานี้ ทำงานบันทึกเสียงได้สบายๆ ฮาร์ดดิสก์ที่คุณซื้อมาในรอบ 5 ปีนี้ มีความจุและความเร็วให้คุณทำเพลงได้เป็นร้อยเพลง ดังนั้นในการบันทึกเสียง “จงเก็บทุกอย่างที่อัดไว้” ยิ่งถ้าเป็นมือใหม่ มีผลงานครั้งแรก ยิ่งต้องเก็บสิ่งที่อัดไว้ “ทุกเทค” การเริ่มทำงานครั้งแรกๆ แล้วต้องฟังไป ตัดสินใจไปในทันทีว่าเทคที่ร้อง ใช้ได้หรือไม่ เป็นเรื่องหนักอยู่ ยิ่งทำไปแล้วลบเทคที่ไม่ใช่ออกไป บางครั้งทำงานไป นักร้องกลับไม่สามารถร้องได้ดี เท่าเทคที่ลบไป ดังนั้น จงอัดแล้วเก็บไว้ทุกเทค

โปรแกรมบันทึกเสียงในปัจจุบัน มีตัวช่วยในการจัดการเสียงที่อัดให้เราบริหารจัดการไฟล์ได้โดยง่าย เช่น การใช้สีแยกแยะ เทคที่ชอบ เทคที่น่าจะใช้ได้ การจัด Folder หรือ Group ของเสียง เครื่องมือง่ายๆ เหล่านี้ ทำให้การทำงานเป็นระบบ และง่ายขึ้น การเก็บเสียงไว้ทุกเสียงจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะมาจัดการในภายหลัง

การบันทึกเสียงโดยการเจาะอาจต้องดูความเหมาะสมของการทำงาน นักร้องบางคนต้องร้องยาวๆ เป็นท่อนยาว เช่นต้องร้องท่อน A ทั้งท่อน ท่อนฮุคทั้งท่อน นักร้องบางคนสามารถร้องเจาะต่ออารมณ์ในท่อนได้ เช่น ร้องต่อตรงกลางของท่อน A ร้องเฉพาะฮุค ประโยคสุดท้าย การร้องเจาะหรือแก้ จึงต้องดูวิธีที่นักร้องร้องแล้วทำได้ดี

การตัดต่อ

เมื่อเราบันทึกเสียงจนเก็บเสียงในแบบที่เราคิดว่าใช้ได้ ก็มาถึงขั้นตัดต่อ การตัดต่อก็คือการนำการร้องที่ดีที่สุดในหลายๆ เทค มาตัดรวมกันให้เป็นเทคเดียว ตรงส่วนนี้ ถ้าคนตัดสินใจเป็นคนตัดต่อเองก็จะง่ายขึ้น เพราะฟังแล้วเลือกได้เลยว่าจะใช้เทคนี้ ท่อนนี้

แต่ถ้าคนตัดต่อและคนตัดสินใจเป็นคนละคนกัน ในขั้นการตัดต่อหรือขั้นเลือกเทค ถ้าคนตัดสินใจอยู่ทำงานกับคนตัดต่อ ก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น คนตัดสินใจเลือกเทคเอาไว้ แล้วคนตัดต่อค่อยทำให้งานสมบูรณ์

ความละเอียดของการตัดต่อ อยู่ที่การตกลงกันของคนตัดสินใจและความสามารถของคนตัดต่อ ความละเอียดเช่น จะเลือกการร้องที่เป็นท่อนหรือประโยคเท่านั้น ไม่ตัดต่อหรือใช้เทคคนละเทคละหว่างประโยค หรือตัดต่อแบบละเอียดยิบ จะใช้คำใช้ท่อนคนละเทคยังไงก็ได้ ถ้าตัดต่อแล้วเนียน

งานที่ผมทำส่วนใหญ่ ผมจะเป็นคนตัดต่อและเลือกเอง ดังนั้นผมจะใช้วิธีตัดต่อแบบละเอียดที่สุด เช่น ร้องคำว่า หัวใจ แล้วผมชอบ หัว กับ ใจ คนละเทค ผมก็ตัดมาใช้คนละเทคนั้น แต่การตัดคำที่ติดกันมากๆ ก็ต้องใช้ความสามารถในการตัดต่อมากขึ้น เช่น ใช้การ Fade ช่วย เป็นต้น เรื่องความละเอียดในการตัดต่อนี้ จึงอยู่ที่ความสามารถของคนตัดต่อด้วย

การจูนเสียง

ปัจจุบันมีปลั๊กอินช่วยในการจูนเสียงมากมาย โปรแกรมทำเพลงแทบทุกตัวมีระบบจูนเสียงมาให้ ปลั๊กอินที่เป็นผู้นำด้านนี้ก็คือ Melodyne คำถามก็คือ เราควรจะจูนเสียงหรือไม่ การทำงานเพลงโดยนักร้อง ร้องได้ไม่ตรงโน้ตที่สุดแล้วจูนด้วยปลั๊กอิน ถือเป็นเรื่องควรทำหรือไม่

ตอบแบบความคิดส่วนตัวของผมเอง การจูนหรือกระบวนการอื่นๆ ที่ทำแล้วทำให้ตัวงานดีขึ้น ตรงกับภาพความคิดของคนสร้างมากขึ้น เป็นสิ่งที่ควรทำ แต่การจูนหรือการปรับแต่งนั้น ต้องฟังแล้วยังเป็นธรรมชาติ โดยยึดหลักการว่า จูนให้รู้สึกว่าไม่จูน

Melodyne ปลั๊กอินจูนเสียงยอดนิยม ของงานทำเพลง

การจูนเป็นเรื่องทำได้ง่าย ปลั๊กอินในปัจจุบันอย่างกลุ่ม Autotune แค่ปลั๊กลงไปในงานก็ทำหน้าที่จูนให้เสียงตรงแล้ว แต่พอใช้ระบบ Auto ก็จะเสียความเป็นธรรมชาติทันที ส่วนปลั๊กอินอย่าง Melodyne นั้น เราสามารถปรับจูนเสียงได้ทีละเสียงหรือทีละคำ ข้อเสียคือ การจูนด้วย Melodyne หรือปลั๊กอินอื่นที่คล้ายกัน ต้องใช้ทักษะในการฝึกฟังและใช้งาน เราไม่สามารถเปิดปลั๊กอินมาแล้วเข้าใจได้ทันที ต้องเรียนรู้ และในขั้นตอนการจูนก็ยังต้องฟังและตัดสินใจเพื่อรักษาความเป็นธรรมชาติไว้ หลายๆ คน กระโดดข้ามการเรียนรู้นี้ไป ทำให้การใช้งานโปรแกรมจูน ทำได้ไม่ละเอียดพอ งานก็เสียความเป็นธรรมชาติไป

สรุปคือ ตามความคิดเห็นส่วนตัว การใช้โปรแกรมช่วยจูนเสียงเป็นเรื่องควรทำ ถ้าจูนแล้วเสียงฟังเป็นธรรมชาติ

การมิกซ์

ผมเน้นเสมอว่า ถ้าทำเพลงได้จนเสร็จมาจนถึงขั้นมิกซ์ ถ้าไม่เคยมิกซ์งานมาก่อน งานแรกควรส่งให้มืออาชีพมิกซ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ

แต่ถ้าอยากทดลองจัดการเสียงร้องด้วยตัวเอง ลองทำตามวิธีเหล่านี้

การใช้ Low Cut – หลักการในการจัดการเสียงร้องอันดับแรกก็คือ การตัดเสียงย่านต่ำ ที่ไม่ค่อยมีผลต่อการร้องทิ้งไป โดยมากเราจะตัดเสียงร้องตั้งแต่ 90 hrz ทิ้งไป แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่กำหนดตายตัว เสียงร้องบางคนอาจตัดได้ที่ย่านเสียงสูงกว่านี้ อาจไปถึง 120 hrz – 140 hrz หรือเสียงบางคน อาจเสียงบางคนอาจตัดได้ต่ำกว่าปกติ เช่นตัดที่ 70 hrz – 80 hrz สิ่งที่ใช้ตัดสินก็คือการฟังว่าเสียงร้องนั้น เมื่อเราทำการ Low Cut แล้ว มวลเสียงหายไปหรือไม่ ถ้ามวลเสียงหายไป ก็อาจต้อง Low Cut ในย่านต่ำกว่าเดิม

EQ Low cut Image
การใช้ EQ ตัดย่านเสียง Low ที่ไม่จำเป็นต้องอยู่ในเพลงออก (Low-Cut)

การใช้ Compressor หรือ Dynamic Processing ในการมิกซ์ในอดีต เราใช้ Compressor เพื่อจัดการ Dynamic หรือน้ำหนักของเสียงที่บันทึกมาให้สม่ำเสมอกัน นี่คือหลักการแรกของการใช้ Compressor แต่ในปัจจุบันเราสามารถจัดการความไม่สม่ำเสมอกันของเสียงได้หลายวิธี เช่นการตัดเสียงเป็นคลิปแล้วลด Volume ของคลิปนั้นได้โดยตรง การใช้ Compressor ในปัจจุบัน จึงใช้เพื่อประโยชน์อีกข้อที่สำคัญมากคือ การให้ลักษณะเสียง

ปลั๊กอินที่เป็น Compressor ใช้หลักการการบีบอัดแบบเดียวกัน แต่แต่ละตัวให้เสียงหลังจากการบีบอัดต่างกันค่อนข้างชัดเจน ถ้าจะมีอะไรที่ทำให้ลักษณะเสียงหรือ Character ในการมิกซ์เปลี่ยนไปมาก สิ่งนั้นคือการเลือกใช้ Compressor

ดังนั้น เมื่อเลือกใช้ปลั๊กอิน Compressor กับเสียงร้อง อย่าเลือกแต่ตัวที่เราคุ้นเคย แต่ลองเลือกจาก Compressor หลายๆ ตัว แล้วจับลักษณะเสียงของ Compressor แต่ละตัวให้ได้

การใช้ EQ – การปรับแต่ง EQ ถือเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ต้องฝึกฝนและใช้เวลาเรียนรู้ ไม่มีใครบอกได้ว่าเสียงเสียงหนึ่ง ควรปรับ EQ มากหรือน้อย เพราะการปรับ EQ ทุกครั้ง ต้องทำควบคู่กับการฟังเสมอ

สำหรับมือใหม่ ที่ต้องจัดการ EQ กับเสียงร้อง ขอให้มองภาพรวม แล้วปรับ EQ ที่ละน้อยก่อน การมองภาพรวมเช่น เสียงร้อง ใสไป หรือจมไป ถ้าใสไป ก็แค่ลดย่านแหลมลงเล็กน้อย ถ้าจมไป ก็ลดย่านต่ำลงแล้วดัน Volume ขึ้น ในการฝึกหัด ให้มองไปทีละส่วนแบบกว้างๆ ก่อน อย่าเพิ่งไปกำหนดว่า เสียงดี เสียงไม่ดี ต้องอยู่ในย่านความถี่ที่เป็นตัวเลขใด ตัวเลขหนึ่ง

การใช้ Reverb ในระดับที่เหมาะสมก็คือ การที่ใส่อยู่ในเพลงแล้ว ยังรู้สึกว่าเพลงเป็นธรรมชาติ ในงานที่ทำขายกันทั้งในบ้านเราและระดับโลก เฉพาะเสียงร้อง Reverb ถูกใส่มาอย่างมากมายในทุกงาน แต่สิ่งสำคัญที่คนมิกซ์ยึดถือก็คือ ใส่ Reverb แล้ว คนฟังทั่วไป ไม่รู้สึกถึง Reverb นั้น หรือใส่ให้ไม่รู้ว่าใส่

เพราะ Reverb ก็คือความรู้สึกของการก้อง ลองนึกถึงเวลาเราอยู่ในห้องใดๆ เสียงเราจะเปลี่ยนไปตามการก้องของห้องนั้นๆ เสมอ แต่ไม่เคยมีห้องที่เราเข้าไปแล้ว เสียงก้องนำเสียงจริงของเราขึ้นมา การใช้ Reverb ในขั้นเริ่มต้น ก็ให้ยึดหลักการนี้ไว้ก่อน คือเสียงก้อง ต้องเด่นน้อยกว่าเสียงจริงเสมอ ถ้าไม่รู้ว่าจุดเหมาะสมอยู่ตรงไหน ให้ “ใส่น้อยดีกว่ามาก” เอาไว้ก่อน

ในแทรคการมิกซ์ 1 เสียง ไม่ได้มีข้อจำกัดว่าต้องใช้ Compressor, EQ, Reverb แค่อย่างละตัว การทดลองผสม Compressor หลายๆ ตัว หรือใช้ Reverb เพื่อให้ผลในหลายๆ ทาง เช่น Reverb ตัวแรก ใส่เพื่อให้ได้ความอิ่มและความก้อง Reverb ตัวที่สอง ใส่เพื่อให้เกิดมิติเสียงที่กว้างขึ้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องทำได้ ถ้ารู้ว่าตัวเองต้องการอะไร

การบันทึกเสียงร้อง และการจัดการเสียงร้อง ถือเป็นขั้นตอนสำคัญ ข้อสรุปจริงๆ ของการจัดการเสียงร้องก็คือ จงอัดให้ได้คุณภาพดีที่สุด ตัดต่อให้เป็นธรรมชาติที่สุด และมิกซ์ให้เสียงร้องนั้น ยังคงเป็นตัวตนเดิม ที่โดดเด่นในเพลง

ขอให้สนุกกับการทำเพลงครับ

=====================

ตรงนี้โฆษณา – คอร์สเรียน “Vocal Production – จัดการเสียงร้องขั้นเทพ” จากเพจมนุษย์ทำเพลง

หนึ่งในคอร์สเรียนที่สอนเรื่องการจัดการเสียงร้องแบบครอบจักรวาลตั้งแต่การตั้งไมค์อัดเสียง การทำพื้นที่เพื่ออัดเสียงให้ได้คุณภาพ การตัดต่อเสียงขั้นละเอียดระดับลมหายใจ การจูนเสียงด้วยปลั๊กอินยอดนิยม Melodyne และ VariAudio การมิกซ์เสียงร้องให้เข้ากับดนตรี

ไม่ว่าคุณจะเป็นนักทำเพลงระดับจริงจัง นักร้องที่กำลังสร้างผลงาน หรือนัก Cover สุดสร้างสรรค์ นี่คือคอร์สที่ช่วยเล่นแร่แปรธาตุ จัดการเสียงร้องให้คุณได้ ในแบบที่เปลี่ยนแปลงให้การร้องที่คุ้นเคย เปลี่ยนแปลงเป็นงานมาตรฐานระดับทำขายได้

คอร์สเรียน “Vocal Production – จัดการเสียงร้องขั้นเทพ” ดูรายละเอียดและตัวอย่างการเรียนได้ จากเพจมนุษย์ทำเพลง ==> คลิกที่นี่เพื่อดูรายละเอียด

Scroll to Top